คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากผู้อื่น จดทะเบียนการเช่ามีกำหนด 25 ปี เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของเจ้ามรดกได้ไปขอโอนชื่อผู้เช่าจากเจ้ามรดกเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 โดยมีข้อสัญญาเช่นเดิมและเมื่อหมดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้เช่ามีสิทธิต่อสัญญาเช่าใหม่ต่อไปได้ การที่จำเลยที่ 1 เช่าตึกแถวพิพาทจึงเป็นการสืบสิทธิของเจ้ามรดกผู้เช่าเดิมนั่นเอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขอโอนชื่อดังกล่าวแล้วได้โอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นการขายสิทธิให้จำเลยที่ 2 แสดงว่าสิทธิการเช่าดังกล่าวมีราคาและถือเอาได้จึงเป็นทรัพย์สินและทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทที่จะแบ่งปันกันได้ เพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกสมควรตีราคาเป็นตัวเงินแล้วจึงแบ่งกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนางเหลี่ยงยินหรือหม่าซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางยินดี แซ่ลี้ จำเลยที่ ๑ เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางยินดี โดยไม่มีบุตรด้วยกันนางยินดีถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๓ โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ นางยินดีมีทรัพย์สินคือสิทธิการเช่าตึกแถวรวม ๓ ห้อง กับกิจการค้าและสินค้าในร้าน ‘ยินดีพานิช’ รวมราคาประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้ครอบครองและดำเนินกิจการค้าต่อเนื่องกันมาหลังจากนางยินดีถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๑ จะได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินกึ่งหนึ่งในฐานะเป็นสินสมรสคิดเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทส่วนที่เหลืออีก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตกเป็นมรดกของนางยินดี ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับกึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นางเหลี่ยงยินซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้โอนสิทธิการเช่าตึกแถวจากชื่อนางยินดีเป็นชื่อของจำเลยที่ ๑ และได้โอนสิทธิการเช่ากับกิจการค้าและสินค้าในร้านทั้งหมดให้จำเลยที่ ๒ โดยเสน่หา ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์สินให้โจทก์ ๑ ใน ๔ ส่วน ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์ ถ้าการแบ่งไม่สามารถตกลงกันได้ให้นำทรัพย์สินทั้งหมดออกขายทอดตลาดนำเงินแบ่งให้โจทก์ ๑ ใน ๔ ส่วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า นางยินดีมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน ถ้าโจทก์จะมีส่วนได้รับมรดกแล้ว ต้องแบ่งให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะคู่สมรสกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกได้แก่นางเหลี่ยงยินมารดาโจทก์และน้องอีก ๒ คน และโจทก์มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่เพียง ๑ ใน ๕ ของมรดกที่นางเหลี่ยงยินจะได้รับสรุปแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกเพียง ๑ ใน ๓๐ ส่วนเท่านั้น นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกตลอดมาและมิได้ครอบครองแทนโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑ ปี คดีจึงขาดอายุความ จำเลยที่ ๒ รับโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทจากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อนางยินดีถึงแก่กรรมสิทธิการเช่าย่อมระงับจึงไม่มีทรัพย์มรดกในส่วนนี้ของผู้ตาย มูลค่าสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทมีค่าอย่างมากไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องทั้งสี่ร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม อ้างว่าเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ โจทก์และผู้ร้องทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่นางเหลี่ยงยินในจำนวนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาทขอให้แบ่งมรดกให้ผู้ร้องทั้งสี่ตามส่วน ศาลชั้นต้นรับคำร้องสอด โดยเรียกโจทก์เดิมว่าโจทก์ที่ ๑ และเรียกผู้ร้องสอดที่ ๑ ถึงที่ ๔ ว่าโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันแบ่งมรดกของนางยินดี แซ่ลี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในร้านยินดีพานิชโดยให้ชำระเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๑ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์ที่ ๑ นอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงิน ๖๕,๐๐๐ บาทให้แก่โจทก์ (ที่ ๑) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ ๑ และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ที่ ๑ ฟ้องแบ่งมรดกของนางยินดี แซ่ลี้ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข๒ รวม ๒ รายการคือ ๑) สิทธิการเช่าตึกแถว ๓ ห้อง และ ๒) กิจการค้ากับทรัพย์สินในร้านค้าของเจ้ามรดก ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกเฉพาะทรัพย์สินในร้านค้าของเจ้ามรดกให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์คัดค้าน ส่วนโจทก์ที่ ๑ อุทธรณ์เฉพาะขอให้แบ่งสิทธิการเช่าตึกแถว ๓ ห้อง ให้แก่โจทก์ที่ ๑ ตามฟ้อง มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับกิจการค้าและทรัพย์สินในร้านด้วย ฉะนั้น ส่วนแบ่งมรดกที่โจทก์ที่ ๑ จะได้รับเกี่ยวกับกิจการค้าและทรัพย์สินในร้านค้าจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วว่าโจทก์ที่ ๑ ได้รับมรดกในส่วนนี้เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเฉพาะทรัพย์อันดับที่ ๑ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข ๒ คือ สิทธิการเช่าตึกแถว ๓ ห้องว่า เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่โจทก์ที่ ๑ จะฟ้องขอแบ่งได้หรือไม่เพียงใดข้อเท็จจริงได้ความว่านางยินดีเจ้ามรดกทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาททั้งสามห้องจากผู้ก่อสร้างตึกแถวดังกล่าวให้เทศบาลเมืองนครสวรรค์โดยเสียค่าเช่าห้องละ ๑๕๐ บาท และ ๒๐๐ บาท จดทะเบียนการเช่ามีกำหนดห้องละ ๒๕ ปีเมื่อนางยินดีผู้เช่าเดิมถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๑ สามีของนางยินดีได้ไปขอโอนชื่อผู้เช่าจากนางยินดีเป็นชื่อของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เช่าแทนโดยมีข้อสัญญาเช่นเดียวกับที่นางยินดีทำไว้เดิม ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๑ เช่าตึกแถวพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการสืบสิทธิของนางยินดีผู้เช่าเดิมนั่นเอง ทั้งข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่าเมื่อหมดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ามีสิทธิต่อสัญญาเช่าใหม่ต่อไปได้ เมื่อจำเลยที่ ๑ ขอโอนชื่อจากนางยินดีเป็นชื่อของตนเป็นผู้เช่าแล้วได้โอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาททั้งสามห้องให้แก่จำเลยที่ ๒ อ้างว่าเป็นการขายสิทธิให้จำเลยที่ ๒ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าสิทธิการเช่าตึกพิพาทดังกล่าวมีราคาและถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์สินและเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทที่จะแบ่งปันกันได้ตามกฎหมายลักษณะมรดกเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรตีราคาเป็นตัวเงินแล้วจึงแบ่งกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๔ และศาลฎีกาตีราคาสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทราคา ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาทจึงต้องแบ่งสินสมรสให้จำเลยที่ ๑ กึ่งหนึ่งก่อนเป็นเงิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท ปรากฏว่านางยินดีผู้ตายไม่มีบุตร และบิดามารดาถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วมรดกของนางยินดีจึงตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกนางยินดีอีกกึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาทส่วนที่เหลืออีก ๓๐๐,๐๐๐ บาท ตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของนางยินดีซึ่งมีอยู่ ๒ คน คือมารดาของโจทก์ที่ ๑ กับนายแก้ว มารดาโจทก์ที่ ๑ ถึงแก่กรรมก่อนนางยินดี มีบุตร ๕ คน คือโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ โจทก์ที่ ๑ จึงมีสิทธิได้รับมรดกส่วนนี้เป็นเงิน๓๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นมรดกที่โจทก์ที่ ๑ ได้รับทั้งสิ้นคิดเป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ ๒ รับโอนมรดกส่วนที่โจทก์ที่ ๑ จะได้รับจากจำเลยที่ ๑ โดยรู้อยู่แล้วว่าผู้โอนไม่มีสิทธิจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ที่ ๑ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share