คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1344/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องแจ้งชัดว่าจำเลยผลิตกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยผิดกฎหมายและอ้างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 อันเป็นบทห้ามกระทำผิด แม้โจทก์จะมิได้อ้างบทลงโทษมาตรา 75 ศาลก็ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าวได้
กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็ลงแต่โทษจำคุกสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20 ได้ และศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกนั้นตามมาตรา 56 ได้ด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผลิตกัญชา จำนวน ๒ ต้น และมีกัญชาจำนวน ๒ ต้น ที่ผลิตขึ้นดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗,๒๖, ๑๐๒ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๒๖, ๗๖, ๑๐๒ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๒) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ประกาศลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๒ ข้อ ๔ แต่การกระทำของจำเลยผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานผลิตกัญชา ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก ๒ ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง จำคุก ๑ ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยด้วย ๔,๐๐๐ บาทอีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งคงปรับ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษตามมาตรา ๕๖ มีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแจ้งชัดว่าจำเลยผลิตกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ โดยผิดกฎหมายและอ้างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖ อันเป็นบทห้ามกระทำผิดมาด้วย ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้อ้างบทลงโทษมา ศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยตามมาตรา ๗๕ ได้ ซึ่งมาตรา ๗๕ บัญญัติว่า ‘ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้าหรือส่งออก ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท’ ตามกำหนดอัตราดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลย ๔,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ ๒,๐๐๐ บาทจึงน้อยกว่าอัตราโทษปรับขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วยนั้น ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยผู้กระทำผิดแต่เพียงสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐ และศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกนั้นได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๕ และไม่ลงโทษปรับจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share