คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 161/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเคยยื่นฎีกาอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายแล้วครั้งหนึ่งศาลชั้นต้นสั่งไม่รับเพราะเห็นว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกา จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยและต่อมาขอถอนอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แล้วจำเลยยื่นฎีกาฉบับใหม่ภายในกำหนดอายุความฎีกาอีก ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อที่เห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ฎีกาของจำเลยข้อนี้ จำเลยได้ยกขึ้นฎีกาในฎีกาฉบับก่อน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาดังกล่าว และต่อมาได้ขอถอนอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาไปแล้ว ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยฉบับแรกย่อมยุติเสียแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 เช่นนี้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยฉบับหลังจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นข้าราชการสังกัดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ๓ แผนกบัญชีและการเงิน สำนักงานเลขานุการกรม มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตั้งฎีกาเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาและเงินช่วยเหลือบุตรข้าราชการและลูกจ้างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจำเลยได้เบียดบังยักยอกเงินสวัสดิการดังกล่าวเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยเสียเองโดยทุจริตหลายครั้งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบการกระทำผิดของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินไปของตนเองและผู้อื่นเป็นเงิน ๖,๑๕๐ บาท ต่อมาจำเลยนำเงิน ๖,๑๐๐ บาทส่งคืนทางราชการแล้ว คงไม่ส่งคืนเพียง ๕๐ บาท เหตุเกิดที่แขวงทุ่งพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๗, ๑๖๑, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยักยอกเอาไปและไม่ได้ส่งคืนอีก ๕๐ บาทแก่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องข้อ ก.และ ข. (ฟ้องของศาลชั้นต้น) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓, ๑๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๖๑ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ จำคุกกระทงละ ๔ ปี รวมจำคุก ๘ ปี และจำเลยมีความผิดตามฟ้องข้อ ค.ง.จ. (ฟ้องของศาลชั้นต้น) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓, ๑๓ และให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ จำคุกกระทงละ ๔ ปี รวม ๑๒ ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งหมด ๒๐ ปี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา และจำเลยได้คืนเงินทั้งหมดให้แก่ทางราชการแล้ว ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบทหนัก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๘ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย อ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ต่อมาวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๘ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยต่อศาลฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับของจำเลย สำเนาให้โจทก์ครั้นวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๘ จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาของจำเลยได้ และในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยได้ยื่นฎีกาลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๘ ต่อศาลชั้นต้นอีก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฎีกาของจำเลยข้อ ๑, ๒ เป็นปัญหาข้อกฎหมายให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ นอกจากนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงไม่รับสำเนาให้โจทก์แก้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าเป็นข้อกฎหมายนี้จำเลยได้ยกขึ้นฎีกามาแล้วในฎีกาฉบับก่อน แต่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาอ้างว่าเป็นฎีกาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๘ (จำเลยทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๘) และศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยไว้แล้วต่อมาวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๘ จำเลยกลับยื่นคำร้องขอถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาของจำเลยเสีย ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้สั่งอนุญาตให้จำเลยถอนได้ แต่จำเลยกลับทำฎีกามายื่นใหม่ภายในกำหนดอายุความฎีกาอีก ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่๑๑ มีนาคม ๒๕๒๘ ย่อมยุติเสียแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๔ ทั้งนี้เทียบเคียงได้กับคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ ๑๔๓/๒๕๐๒ คดีระหว่าง นายลบ ขำโคกกรวด กับพวก โจทก์ สิบตำรวจตรีสมาน มนูญศักดิ์ กับพวกจำเลย เช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยฉบับหลังลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๘ จึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลย
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลยเสีย

Share