คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3419/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเป็นทายาทอันดับ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 จำเลยซึ่งเป็นบุตรน้องสาวของเจ้ามรดกเป็นทายาทอันดับ 3 ย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกรายนี้ แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินมรดกบางแปลงตั้งแต่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ก็หาใช่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์มรดกไม่ แม้ศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว หากปรากฏในภายหลังว่าจำเลยไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก โจทก์ที่ 2 ซึ่งพิสูจน์ฟังได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลยย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียฟ้องหรือร้องขอให้ศาลถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้และศาลย่อมมีอำนาจที่จะถอดถอนและสั่งตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทนจำเลยได้
การที่โจทก์ที่ 2 ได้เบิกความชั้นศาลเป็นพยานโจทก์ในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นว่าพินัยกรรมที่โจทก์ในคดีดังกล่าวนำสืบอ้างเป็นพยานในศาลนั้นเป็นพินัยกรรมอันแท้จริงของเจ้ามรดก และต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า พินัยกรรมนั้นเป็นพินัยกรรมปลอมก็ตาม แต่โจทก์ที่ 2 มิได้เป็นผู้ปลอมหรือใช้หรืออ้างพินัยกรรมปลอมนั้น จึงไม่ถือว่าโจทก์ที่ 2 ปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดกอันจะถูกกำจัดมิให้ได้มรดก
การร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก โจทก์เพียงแต่บรรยายถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันจำเป็นและสมควรจะต้องมีผู้จัดการมรดกเท่านั้น การที่ศาลจะตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก และภายใต้บังคับบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ไม่จำต้องเป็นบรรยายบทบังคับให้ศาลจำต้องปฏิบัติไว้ในฟ้องด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ เป็นบุตรและบุตรบุญธรรมของนายฉ่ำ คงอ่อน เจ้ามรดก จำเลยเป็นหลานของนายฉ่ำ คงอ่อน ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกโดยจำเลยเบิกความเท็จว่าเจ้ามรดกไม่มีทายาทโดยธรรม จำเลยไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก และยังฟ้องโจทก์ทั้งสองขอให้เพิกถอนสัญญาที่โจทก์ทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมทำไว้กับบริษัทน้อมมิตร จำกัด ขอให้ศาลถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับมรดกต่อไป และขอให้ศาลตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ใช่บุตรเจ้ามรดกโจทก์ที่ ๒ ไม่มีหลักฐานว่าเป็นบุตรบุญธรรมเจ้ามรดก หากฟังว่าโจทก์ทั้งสองเป็นทายาทโดยธรรม โจทก์ทั้งสองก็ได้ปิดบังทรัพย์มรดกฉ้อฉลทายาทอื่นจึงถูกกำจัดมิให้ได้มรดก จำเลยมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกในฐานะเป็นหลานของเจ้ามรดกและยังครอบครองปรปักษ์ในที่ดินมรดกจนได้กรรมสิทธิ์จำเลยทำบัญชีทรัพย์มรดกไม่ได้โดยมีเหตุอันสมควรและได้ขอขยายเวลาต่อศาลแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ใช่บุตรเจ้ามรดก ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ที่ ๒ เป็นบุตรบุญธรรมมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกมีอำนาจฟ้องแม้จำเลยจะครอบครองที่ดินมรดกไว้ ๑ แปลง แต่จำเลยเป็นบุตรน้องสาวของเจ้ามรดกเป็นทายาทอันดับต่ำกว่าโจทก์ที่ ๒ ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกโดยตรง มีเหตุสมควรจะถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าโจทก์ที่ ๒ ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก อันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ตั้งโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ ๑ ให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย คำขออื่นของโจทก์ที่ ๒ ให้ยก
โจทก์ที่ ๒ และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า แม้โจทก์ที่ ๒ จะปิดบังทรัพย์มรดกก็เป็นเรื่องของทายาทอื่นผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกับโจทก์ที่ ๒ หาเกี่ยวกับจำเลยไม่ เพราะจำเลยไม่ใช่ทายาทไม่มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิจัดการทรัพย์มรดก ศาลจะตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกต้องคำนึงถึงหลักทรัพย์เกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่จำต้องบรรยายหลักเกณฑ์นั้นไว้ในคำฟ้อง พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๒ เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเป็นทายาทอันดับ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๙ จำเลยซึ่งเป็นบุตรน้องสาวของเจ้ามรดกเป็นทายาทอันดับ ๓ ย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกรายนี้ ถึงจำเลยจะครอบครองที่ดินมรดกบางแปลงตั้งแต่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ก็หาใช่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์มรดกไม่ แม้ศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้วหากปรากฏในภายหลังว่าจำเลยไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก และโจทก์ที่ ๒ ซึ่งพิสูจน์ฟังได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลย ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียฟ้องหรือร้องขอให้ศาลถอดถอนจำเลยออกจากากรเป็นผู้จัดการมรดก ศาลมีอำนาจที่จะถอดถอนและสั่งตั้งโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกได้ และแม้คดีฟังได้ว่าโจทก์ที่ ๒ ได้เบิกความชั้นศาลเป็นพยานโจทก์ในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นว่า พินัยกรรมที่โจทก์ในคดีดังกล่าวนำสืบอ้างเป็นพยานในศาลเป็นพินัยกรรมที่แท้จริงของเจ้ามรดก ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าพินัยกรรมนั้นเป็นพินัยกรรมปลอมก็ตาม แต่โจทก์ที่ ๒ มิได้เป็นผู้ปลอมหรือใช้หรืออ้างพินัยกรรมปลอมนั้น จึงไม่ถือว่าโจทก์ที่ ๒ ปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก ไม่ถูกกำจัดมิให้ได้มรดกรายนี้ โจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมย่อมมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย มีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกโดยบรรยายถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันจำเป็นและสมควรจะต้องมีผู้จัดการมรดกเท่านั้น ส่วนการที่ศาลจะตั้งใครนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก และภายใต้บังคับบทบัญญัติที่ชี้แนวทางใหศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑๘ ฉะนั้นจึงไม่จำต้องบรรยายบทบังคับให้ศาลจำต้องปฏิบัติไว้ในฟ้องด้วย
พิพากษายืน

Share