คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2868/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และศาลพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามนั้น ดังนี้ โจทก์ได้แต่สิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิติดตามเอาคืนโฉนดสำหรับที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ตกลงประนีประนอมยอมความกันยอมให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ศาลพิพากษาตามยอม จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กู้เงินจำเลยที่ ๓ และให้จำเลยที่ ๓ ยึดโฉนดที่ดินพิพาทไว้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดให้โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๓ ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ส่งมอบโฉนดให้กับโจทก์ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๓
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมโจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมกับบุคคลอื่น ศาลได้พิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนั้นแล้ว ดังนี้ โจทก์ได้แต่สิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนได้ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ โจทก์หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองไม่ เมื่อโจทก์มิได้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดดังกล่าว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิติดตามเอาคืนโฉนดสำหรับที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ ดังที่โจทก์ฎีกา
พิพากษายืน

Share