แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามหนังสือมอบอำนาจปรากฏว่า ธนาคารมอบอำนาจให้ผู้จัดการธนาคารสาขามีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีที่สาขามีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้อง ดังนี้ผู้จัดการธนาคารสาขาย่อมมีอำนาจร้องทุกข์กล่าวหาจำเลยว่ายักยอกเงินที่พนักงานของธนาคารสาขาส่งมอบให้จำเลยโดยสำคัญผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ครอบครองเงินจำนวน 90,000 บาท ของธนาคารโจทก์ร่วม ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของผู้จัดการธนาคารโจทก์ร่วมสาขานครศรีธรรมราช โดยผู้มีชื่อได้ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิดแล้วจำเลยเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต เป็นการกล่าวถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตลอดจนข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์หาเคลือบคลุมไม่
จำเลยเขียนเช็คสั่งจ่ายเงิน 10,000 บาท โดยเขียนจำนวนเงินด้วยอักษรว่า ‘หนึ่งหมื่นบาท’ แต่จำนวนเงินที่เขียนด้วยตัวเลข ได้ใส่เครื่องหมายจุลภาคผิดตำแหน่ง โดยใส่ไว้หลังเลขศูนย์ตัวที่สองนับจากเลข 1 แล้วนำมาขอเบิกเงินจากธนาคารพนักงานธนาคารสำคัญผิดว่าจำเลยขอเบิกเงิน 100,000 บาท จึงจ่ายเงินให้จำเลย 100,000 บาท ถือได้ว่าเงินจำนวน 90,000 บาท เป็นเงินที่ส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยสำคัญผิดไป แม้จะด้วยการใดก็ตาม เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเป็นของตน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยครอบครองเงินจำนวน ๙๐,๐๐๐ บาท ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของนายสุวรรณภูมิ ผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขานครศรีธรรมราช ผู้เสียหาย โดยผู้มีชื่อได้ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิด จำเลยได้บังอาจเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๒ วรรคสอง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก ๖ เดือนและให้จำเลยใช้เงิน ๙๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยได้เขียนเช็คสั่งจ่ายเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท โดยเขียนจำนวนเงินด้วยตัวอักษรว่า ‘หนึ่งหมื่นบาท’ แต่จำนวนเงินที่เขียนด้วยตัวเลข ได้ใส่เครื่องหมายจุลภาคผิดตำแหน่ง โดยใส่ไว้หลังเลขศูนย์ตัวที่สองนับจากเลข ๑ แล้วนำมาขอเบิกเงินจากธนาคารโจทก์ร่วมสาขานครศรีธรรมราช พนักงานของโจทก์ร่วมสำคัญผิดว่าจำเลยขอเบิกเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จึงจ่ายเงินให้จำเลยจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เกินจำนวนที่สั่งจ่ายตามเช็คไปเป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท พนักงานของโจทก์ร่วมไปขอเงินส่วนที่จ่ายเกินไปนั้นคืนจากจำเลย จำเลยไม่ยอมคืนให้
วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ธนาคารโจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และได้มอบอำนาจให้นายสุวรรณภูมิ ผู้จัดการธนาคารโจทก์ร่วม สาขานครศรีธรรมราช มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีที่สาขามีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๑ ดังนั้นนายสุวรรณภูมิ จึงมีอำนาจร้องทุกข์ และได้มีการสอบสวนในความผิดนี้โดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ครอบครองเงินจำนวน ๙๐,๐๐๐ บาท ของธนาคารโจทก์ร่วม ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของนายสุวรรณภูมิผู้จัดการธนาคารโจทก์ร่วม สาขานครศรีธรรมราช โดยผู้มีชื่อได้ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิด แล้วจำเลยเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนโดยสุจริตเป็นการกล่าวถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตลอดจนข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) แล้วฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่
ตามพฤติการณ์ที่พนักงานธนาคารโจทก์ร่วมส่งมอบเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยไป ก็โดยสำคัญผิดว่าจำเลยสั่งจ่ายเงินตามเช็คเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งความจริงจำเลยสั่งจ่ายเช็คเป็นเงินเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท ถือได้ว่าเป็นการส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปแม้จะด้วยประการใดก็ตาม เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลย แล้วจำเลยเบียดบังเอาเป็นของตน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.