คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อนศาลฎีกายกฟ้องโจทก์เพราะศาลไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอท้ายฟ้องได้ โดยศาลฎีกายังไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินให้ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ดังนั้นคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ที่ขอให้จำเลยชำระราคาที่ดินให้โจทก์ จึงไม่ใช่ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว อันจะเป็นการต้องห้ามมิให้โจทก์นำมาฟ้องจำเลยอีก ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
การกำหนดราคาที่ดินที่จำเลยจะต้องชดใช้แก่โจทก์ ต้องถือตามราคาในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ไม่ถือตามที่โจทก์เคยตีราคาในการเสียค่าขึ้นศาลในคดีก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระราคาที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๒๑ ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิเจ้าของเนื้อที่ ๓๕ ไร่ ๓ งาน ๖๐ ตารางวา เป็นเงิน ๕,๗๔๔,๐๐๐ บาท พร้อมกับค่าเสียหายเท่าดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๒๑ ทั้งแปลงมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๕๑/๒๕๑๘ ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ชดใช้ราคาที่ดินโฉนดเลขที่๑๕๒๑ เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิเป็นเจ้าของ ๓๕ ไร่ ๓ งาน ๖๐ ตารางวา เป็นเงิน ๒,๘๗๒,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้ยก
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน ๕,๗๔๔,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาข้อแรกที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาว่าคดีของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีก่อนศาลฎีกายกฟ้องโจทก์เพราะคำขอท้ายฟ้องของโจทก์กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก ศาลไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอท้ายฟ้องได้เท่ากับเป็นการยกฟ้องเพราะฟ้องของโจทก์บกพร่อง โดยที่ศาลฎีกายังไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ฉะนั้นแม้ในคดีนี้โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันใช้ราคาที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๒๑ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ทำกลฉ้อฉลให้นายพูนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๒๑ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เช่นเดียวกับที่โจทก์เคยอ้างในคดีก่อนก็ตาม แต่เมื่อในคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โอนที่ดินให้โจทก์หรือไม่คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ที่ขอให้จำเลยชำระราคาที่ดินให้โจทก์ จึงไม่ใช่ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว อันจะเป็นการต้องห้ามมิให้โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อีก ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๘
ในข้อที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาว่าได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ โดยอ้างว่าศาลฎีกาในคดีก่อนไม่ได้ชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสองทำกลฉ้อฉลนายพูน จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำกลฉ้อฉล เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนกลฉ้อฉลและศาลยังไม่ได้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองร่วมทำกลฉ้อฉลโจทก์จะฟ้องเรียกราคาที่ดินไม่ได้ เพราะจำเลยทั้งสองได้ที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทั้งได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จำเลยทั้งสองจะได้ให้การว่าได้ที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน อันอาจแปลได้ว่าจำเลยทั้งสองยกมาตรา ๑๒๙๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นต่อสู้ไว้แล้ว แต่ในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสองหาได้ตั้งประเด็นข้อนี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ไม่ ประเด็นข้อนี้จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ว่ากล่าวมาแล้วในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้
ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะต้องชำระราคาที่ดินให้โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ต้องใช้ราคาที่ดินตามราคาในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งโจทก์นำสืบฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๒๗ มีราคาตารางวาละ ๔๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ต้องใช้ราคาที่ดินให้โจทก์รวม ๕,๗๔๔,๐๐๐ บาท จะถือว่าที่ดินมีราคาเพียง ๑,๗๕๐,๐๐๐ บาท ตามที่โจทก์เคยตีราคาในการเสียค่าขึ้นศาลในคดีก่อนหาได้ไม่ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาว่า การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ทำให้มีการตีราคาที่ดินขึ้นเองเพื่อโกงค่าธรรมเนียมศาลได้ และขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๒๑ มีราคาไร่ละ ๑๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑,๗๕๐,๐๐๐ บาท ตามราคาที่โจทก์ตั้งมาในคดีก่อนเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์มิได้ถือราคาทุนทรัพย์ในคดีก่อนซึ่งฟ้องร้องกันในปี ๒๕๑๖ มาเป็นราคาทรัพย์สินในคดีนี้ซึ่งฟ้องร้องกันในปี ๒๕๒๓ เป็นเวลาห่างกันรวม ๗ ปีนั้นชอบด้วยเหตุผลแล้วจำเลยมิได้โต้แย้งว่าราคาที่ดินที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาไม่ถูกต้องด้วยเหตุอื่นอีก ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share