คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมและคดีขาดอายุความไปแล้ว และย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้ออื่น เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีใหม่ จำเลยจะยกปัญหาดังกล่าวซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยยุติไปแล้วขึ้นอุทธรณ์อีกไม่ได้ ต้องห้ามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า เมื่อโจทก์จำเลยมิใช่นายจ้างลูกจ้างกันแล้ว กรณีโจทก์จำเลยจึงไม่ใช่คดีพิพาทที่เกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ที่จำนำคดีมาฟ้องยังศาลแรงงานได้ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา54
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหาย พิพากษายกคำขอของโจทก์ในข้อนี้และโจทก์มิได้อุทธรณ์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง จำเลยมีสิทธิ์เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายและถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างประจำของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าชดเชย ฯลฯ แก่โจทก์ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54

ย่อยาว

คดีเรื่องนี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยมาครั้งหนึ่งแล้วว่า ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ว่า จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตรงไหน อย่างไร จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และโจทก์ฟ้องเรียกเงินหลายจำนวนอายุความมีหลายประเภทต่างกันเป็นเรื่อง ๆ ไป จึงต้องแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธ ว่าจำเลยอ้างอายุความในเรื่องใด เหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ คำให้การของจำเลยสั้น ๆ ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๑๗๗ วรรคสอง สำหรับปัญหาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางยังฟังข้อเท็จจริงไม่ยุติ เห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ใหม่ พร้อมกับวินิจฉัยปัญหาตามประเด็นข้อ ๒ เฉพาะเรื่องอำนาจฟ้อง ปัญหาตามประเด็นข้อ ๔ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ และปัญหาประเด็นข้อ ๕ จำเลยจะต้องรับผิดใช้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่างหน้า ค่าชดเชย เงินประกัน ค่าจ่างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าน้ำมัน รถค้างชำระ ค่าเสียหานอันเกิดแต่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เงินเพิ่มและดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่เสียด้วย พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยข้อ ๑ ข้อ ๒ เฉพาะเรื่องอายุความและพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้พิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นข้อ ๒ เฉพาะอำนาจฟ้อง และประเด็นข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ ๕
ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย และโจทก์มีอำนาจฟ้อง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องรับผิดในค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๖,๘๙๔ บาท ค่าชดเชย ๔๑,๓๖๔ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๓๔๔.๗๐ บาท และเงินประกัน ๓,๘๐๕ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถหรือค่าพาหนะซึ่งถือเป็นค่าจ้าง ๒,๕๓๘.๘๐ บาท พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของค่าจ้าง ดังกล่าวทุก๗ วันนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นๆ ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและฟ่องโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า จำเลยได้ยกขึ้นอุทธรณ์มาแล้วในครั้งก่อน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะยกขึ้นอุทธรณ์อีกไม่ได้ ต้องห้ามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเมื่อโจทก์จำเลยมิใช่นายจ้างลูกจ้างกันแล้ว กรณีโจทก์จำเลยจึงมิใช่คดพิพาทที่เกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะนำคดีมาฟ้องยังศาลแรงงานได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องที่จำเลยยกขึ้นอ้าง ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๔
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง การติดต่อกับโจทก์ก็ยากลำบากไม่ทันการจนจำเลยต้องจ้างทนายความสำนักงานอื่นมาดำเนินคดีแทนหลายคดี จำเลยจึงมีสิทธิ์เลิกจ้างโจทก์โดยจำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหาย เพราะถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในปัญหาที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหาย ระหว่างถูกเลิกจ้างและพิพากษายกคำขอของโจทก์ในข้อนี้ ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างประจำของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างชำระ ค่าจ้างที่หักไว้เป็นประกันการทำงาน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี รวมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานฟังว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยจึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีการพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๔
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย.

Share