แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สามีภรรยาทำหนังสือยินยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ไว้ ้ถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 ที่ได้ตรวจชำระใหม่แล้วเมื่อสามีไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าให้ ภรรยาก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้บังคับสามีไปจดทะเบียนหย่าได้
ย่อยาว
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ต่อมาจำเลยได้ ส. เป็นภรรยา โจทก์ทราบเรื่อง จำเลยก็ทำทัณฑ์บนไว้กับโจทก์ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับ ส. อีกแต่จำเลยผิดทัณฑ์บนจึงจดทะเบียนหย่ากัน ต่อมาโจทก์จำเลยคืนดีกันได้จึงทำสัญญาก่อนสมรสและจดทะเบียนกันใหม่ โดยจำเลยยอมให้ทัณฑ์บนไว้กับโจทก์ด้วยสัญญาเดิม แต่จำเลยผิดทัณฑ์บนโดยไปมีบุตรกับ ส. อีก โจทก์จำเลยจึงตกลงทำสัญญาหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน โจทก์นัดให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าแล้วจำเลยไม่ยอม จึงฟ้องขอให้สั่งให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์
จำเลยให้การว่าที่จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์แล้วทำสัญญาก่อนสมรสและจดทะเบียนสมรสใหม่ เป็นการทำนิติกรรมลวงผู้อื่น ใช้บังคับกันไม่ได้ จำเลยไม่ได้ตกลงให้ต่อสัญญาทัณฑ์บนเดิม สัญญาหย่าขาดเป็นเอกสารปลอม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนหย่าให้โจทก์ภายใน ๑๕ วันถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาตามมาตรา ๒๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยทำหนังสือยินยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๗ หรือไม่
โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่าเป็นผู้เขียนเอกสารดังกล่าวขึ้น ให้จำเลยอ่านและลงลายมือชื่อไว้ แล้วนายจิระนันท์ สังขจันทร์ บุตรของโจทก์จำเลย กับนางสาวประจง บุนนาค ที่โจทก์ลงชื่อเป็นพยานรู้เห็นตามลำดับ มีนายจิระนันท์ และนางสาวประจงเบิกความสนับสนุน โดยจำเลยมิได้ถามค้านพยานทั้งสามปากนี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยปากเดียวเบิกความว่าเคยลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าให้โจทก์ไป เข้าใจว่าโจทก์สมคบกับนางสาวประจง บุนนาค เอาไปทำเป็นเอกสารหมาย จ.๗ จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนอีก พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าของจำเลยเชื่อได้ว่าโจทก์จำเลยได้ทำหนังสือยินยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันไว้ตามเอกสารหมาย จ.๗ จริง ซึ่งเป็นการถูกต้องครบถ้วนตาม มาตรา ๑๕๑๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่แล้ว แต่การหย่าโดยความยินยอมนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนหย่าแล้ว ตามมาตรา ๑๕๑๕ ฉะนั้นเมื่อจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าให้โจทก์ โจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่าได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน.