คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงานทำการจับกุมผู้เสียหายไป ทั้งที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้เสียหายได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แล้วขู่เข็ญผู้เสียหายให้หาเงินมาให้มิฉะนั้นจะนำไปดำเนินคดีผู้เสียหายยอมหาเงินมาให้ตามที่จำเลยเรียกร้องระหว่างรอรับเงินค่าไถ่จำเลยได้หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในที่ต่างๆดังนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และมาตรา 313 ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดเฉพาะแต่มาตรา 148 เท่านั้นส่วนจำเลยอื่นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 86 และมาตรา 313 ทั้งเป็นความผิดสำเร็จแล้วแม้จะยังไม่ได้รับเงิน
ความผิดฐานจับคนไปเรียกค่าไถ่นั้น จำเลยทุกคนเป็นตัวการในการกระทำความผิดด้วยกันได้ โดยการร่วมกันกระทำผิดแต่แบ่งแยกหน้าที่กันทำ
จำเลยที่ 2 ถูกจับได้พร้อมอาวุธปืนของกลางขณะไปรอรับเงินค่าไถ่ แม้จะยังไม่ได้ใช้อาวุธปืนนั้นกระทำความผิดใด แต่พกติดตัวอยู่ในสภาพที่จะนำออกใช้ได้เมื่อต้องการ แสดงถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่นำอาวุธปืนไปใช้ในกิจการรอรับเงินค่าไถ่โดยเฉพาะ ไม่ใช่เพื่อนำไปปฏิบัติหน้าที่ตามใบอนุญาตพกของทางราชการ อาวุธปืนของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) อันศาลจะพึงใช้ดุลพินิจสั่งริบได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลรวมการพิจารณาพิพากษาโดยโจทก์ฟ้องทำนองเดียวกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๔, ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๖, ๙๑, ๑๔๘, ๑๕๗, ๓๑๓ ริบของกลาง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ก่อนสืบพยาน ศาลจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๗ เพราะตาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๓๑๓(๒) (๓) ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๘๖ และมาตรา ๓๑๓(๒) (๓) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา ๓๑๓(๒) (๓) ซึ่งมีโทษหนักที่สุด จำเลยที่ ๑ และที่ ๖ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ด้วย
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยร่วมกันจับผู้เสียหายไปทังที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้เสียหายได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เพื่อเรียกเงินจากผู้เสียหาย ๓๐๐,๐๐๐ บาท มิฉะนั้นจะนำตัวผู้เสียหายไปดำเนินคดี ผู้เสียหายมีความกลัวยอมตกลงให้เงินกับจำเลยตามที่เรียกร้อง โดยภริยาผู้เสียหายไปหาเงินเพื่อจะมาให้พวกจำเลยเป็นค่าไถ่ตัวผู้เสียหาย ระหว่างรอรับเงินค่าไถ่จำเลยได้หน่วงเหนี่ยวกักขังตัวผู้เสียหายไว้ที่โรงแรมและตามสถานที่ต่าง ๆ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓ และเป็นความผิดสำเร็จแล้วแม้จะยังไม่ได้รับเงินไม่ใช่พยายามกระทำความผิด และไม่ใช่กระทำความผิดเฉพาะเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามมาตรา ๑๔๘ อย่างเดียวตามที่จำเลยฎีกา
ความผิดฐานจับคนเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่นั้น จะทำลำพังจำเลยที่ ๑ คนเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะคดีนี้ต้องคุมตัวผู้เสียหายไว้ที่หนึ่ง ไปรับเงินจากภริยาผู้เสียหายที่จุดนัดหมายอีกแห่งหนึ่ง และยังออกติดตามภริยาผู้เสียหายซึ่งกำลังไปรวบรวมเงินอยู่ต่างจังหวัดกันตามรูปคดีเชื่อได้ว่ามีการวางแผนล่วงหน้ากันก่อนเกิดเหตุ โดยให้จำเลยที่ ๗ ไปพบผู้เสียหายที่บ้านและอ้างตนว่าเป็นตำรวจหน้าห้อของพันตำรวจเอกชลอ เกิดเทศ รองผู้บังคับการกองปราบปราม ให้ผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ ๗ เพื่อพาเข้าหาพันตำรวจเอกชลอ เพราะผู้เสียหายถูกกล่าวหาว่าจ้างวานฆ่าผู้อื่น แต่ผู้เสียหายไม่ยอมไปพบเพราะไม่ได้ทำผิด และไม่เชื่อว่าจำเลยที่ ๗ เป็นตำรวจเมื่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ จับผู้เสียหายไปกองปราบปราม จำเลยที่ ๗ ก็เข้ามาพบผู้เสียหายรับจะช่วยเหลือเพื่อให้สมอ้างว่าเป็นตำรวจและผู้เสียหายถูกกล่าวหาจริงทั้งที่จำเลยที่ ๗ ไม่ได้เป็นตำรวจซึ่งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ย่อมรู้ดี เมื่อพาผู้เสียหายกับภริยาไปรับประทานอาหารก็ร่วมไปกันทั้งหมดเพื่อให้สมจริง ขณะควบคุมตัวผู้เสียหายไว้ที่โรงแรมจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ก็มานอนคุมเฝ้าผู้เสียหาย และเมื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๕ และที่ ๗ นำผู้เสียหายไปตามภริยาผู้เสียหายที่จังหวัดชลบุรีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๖ ก็ยังคอยเฝ้าภริยาผู้เสียหายอยู่ที่จุดนัดพบที่สถานีขนส่งสายเหนือ จนถูกจับได้พร้อมกันทั้งชุด แสดงว่าร่วมกันกระทำความผิดแต่แบ่งแยกหน้าที่กันทำ จำเลยทุกคนจึงเป็นตัวการ ในการกระทำความผิดด้วยกัน
ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า ปืนพกของกลางหมายเลขทะเบียน ทก.๒๓๑๐๒๘๔ พร้อมกระสุนปืนนั้น จำเลยที่ ๒ ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ และมีใบอนุญาตให้พกได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าผลคดีจะเป็นประการใด จะสั่งริบไม่ได้ต้องคืนให้จำเลยที่ ๒ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกันพวกกระทำความผิดฐานจับคนเรียกค่าไถ่ และถูกจับได้พร้อมอาวุธปืนของกลางขณะไปรอรับเงินค่าไถ่แมัจะยังไม่ได้นำอาวุธปืนออกใช้ยิงหรือขู่เข็ญจะทำร้ายใคร แต่พกติดตัวอยู่ในสภาพที่จะนำออกใช้ได้เมื่อต้องการ แสดงถึงเจตนาที่นำไปใช้ในกิจการที่จำเลยที่ ๒ ไปกระทำโดยเฉพาะ ไม่ใช่เพื่อนำไปปฏิบัติหน้าที่ตามใบอนุญาตพกของทางราชการจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) ที่ศาลล่างใช้ดุลพินิจสั่งริบจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว
ที่จำเลยที่ ๖ ฎีกาว่า ไม่ได้พบอาวุธปืนที่จำเลยที่ ๖ จำเลยที่ ๖ จึงไม่ได้กระทำความผิดในข้อหานี้นั้น เห็นว่า ข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๖ มีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน

Share