แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องบังคับจำนองโดยตรงแต่โจทก์ก็ขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ยึดมาโดยปลอดจำนอง อันถือได้ว่าเป็นการขอให้บังคับชำระหนี้จำนอง โดยอาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิของเจ้าหนี้จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิจึงอยู่ในฐานะที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ผู้ร้องทั้งเก้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษา มิใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิชอบที่จะได้รับแต่เงินที่เหลือจากการชำระหนี้จำนองของโจทก์ ถ้าหากมี ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคสุดท้าย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเดิมสามีจำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคารโจทก์โดยเอาที่ดินจำนวน ๑๐ แปลงมาจำนองเป็นประกัน ต่อมาสามีจำเลยตายจำเลยทำหนังสือรับใช้หนี้ดังกล่าวและโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือรับใช้หนี้ซึ่งจำเลยทำให้ไว้ จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ ต่อมาจำเลยผิดสัญญา โจทก์ขอบังคับคดียึดที่ดินทั้ง ๑๐ แปลงมาขายทอดตลาดชำระหนี้ โดยได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินเว้นแต่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๓๑ อย่างปลอดจำนองหลังจากขายทอดตลาดแล้วผู้ร้องทั้งเก้ายื่นคำร้องขอเฉลี่ยอ้างว่า ผู้ร้องแต่ละรายต่างเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยและไม่มีทรัพย์อื่นใดที่จะยึดมาชำระหนี้ โจทก์แถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องทุกรายเข้าเฉลี่ยในเงินที่ขายทรัพย์สินได้ตามขอ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยเต็มจำนวนเสียก่อน จำนวนที่เหลือให้เฉลี่ยระหว่างผู้ร้องตามกฎหมาย
ผู้ร้องทั้งเก้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๒ วรรคสอง แม้โจทก์มิได้ฟ้องบังคับจำนองโดยตรงแต่โจทก์ก็ขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ยึดมาโดยปลอดจำนอง อันถือได้ว่าเป็นการขอให้บังคับชำระหนี้จำนองโดยอาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิของเจ้าหนี้จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิ่จารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๙ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิจึงอยู่ในฐานะที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ผู้ร้องทั้งเก้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ ชอบที่จะได้รับแต่เงินที่เหลือจากการชำระหนี้จำนองของโจทก์ ถ้าหากมี ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๙ วรรคสุดท้าย
พิพากษายืน