คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 887/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพแก่โจทก์เป็นจำนวนแน่นอน เป็นรายเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือน ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ ให้บทนิยาม คำว่า ‘ค่าจ้าง’ ไว้ว่า’หมายความว่า ค่าจ้างที่โรงงานน้ำตาลจ่ายให้แก่ พนักงานและคนงานประจำเพื่อตอบแทนการทำงาน แต่ไม่รวมถึง เงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัส เบี้ยเลี้ยงหรือประโยชน์ อย่างอื่น’ ค่าครองชีพจึงเข้าลักษณะเป็นค่าจ้าง หาใช่ประโยชน์อย่างอื่นอันจะไม่ต้องนำมาคำนวณเงินบำเหน็จไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะครบเกษียณอายุ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยมีจำนวนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน แต่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ไม่ครบ เพราะไม่ได้นำเงินช่วยเหลือค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณบำเหน็จโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จที่ยังขาดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าเงินช่วยค่าครองชีพไม่อยู่ในข่ายที่จะนำมารวมกับเงินค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จที่ค้างแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพแก่โจทก์เป็นจำนวนแน่นอน เป็นรายเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือน เงินค่าครองชีพจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับเงินเดือน ตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาลว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ ให้บทนิยามคำว่า “ค่าจ้าง”ไว้ว่า “หมายความว่า ค่าจ้างที่โรงงานน้ำตาลจ่ายให้แก่พนักงานและคนงานประจำเพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงานและคนงาน และรวมถึงเงินเพิ่มพิเศษในการจ้างด้วย แต่ไม่รวมถึงเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัส เบี้ยเลี้ยงหรือประโยชน์อย่างอื่น” เมื่อฟังว่าเงินช่วยค่าครองชีพเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับเงินเดือน เงินช่วยค่าครองชีพจึงเข้าลักษณะเป็นค่าจ้างตามบทนิยามของคำว่า “ค่าจ้าง” ตามข้อบังคับของจำเลย และเมื่อถือเป็นค่าจ้าง ก็ย่อมไม่ใช่ประโยชน์อย่างอื่นอันไม่ต้องนำมาคำนวณเงินบำเหน็จ
พิพากษายืน

Share