คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2785/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่ารถยนต์พิพาทเป็นของผู้ร้องสอด ขอให้จำเลยทั้งสามคืนให้แก่ผู้ร้องสอด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคารถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดดังนี้ คดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงยังไม่ยุติ
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า ไม่เห็นด้วยกับที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดเพราะเมื่อจำเลยคืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วจำเลยก็ไม่มีรถที่จะคืนให้ผู้ร้องสอดได้อีก ผู้ร้องสอดชอบที่จะไปบังคับเอารถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์ที่ 2 นั้นมิใช่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ที่ ๒ ซื้อรถยนต์พิพาทจากนายบุญเยี่ยม โดยสุจริตในราคา ๒๗๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ ได้ชำระราคาให้แก่นายบุญเยี่ยมแล้วและนายบุญเยี่ยมได้ส่งมอรถยนต์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ ๒ โดยสัญญาว่าจะจัดการโอนทะเบียนให้แก่โจทก์ที่ ๒ ใน ๒ – ๓ เดือนต่อมา แต่นายบุญเยี่ยมบิดพลิ้ว โจทก์ที่ ๒ จึงฟ้องนายบุญเยี่ยมต่อศาลจังหวัดขอนแก่นศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาให้นายบุญเยี่ยมโอนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ต่อมาโจทก์ที่ ๒ ได้โอนขายรถยนต์คันนี้ให้แก่โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ได้รับรถยนต์ทั้งได้ครอบครองใช้สอยติดต่อกันมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๒ จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ศุลการักษ์ได้ยึดรถยนต์ดังกล่าวจากโจทก์ที่ ๑ โดยอ้างว่าสงสัยเป็นรถที่ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรแต่เมื่อจำเลยที่ ๓ ทำการสอบสวนแล้วปรากฏว่า เป็นรถที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ที่ ๑ ขอคืนแต่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นอธิบดีผู้มีอำนาจการสั่งคืนรถยนต์ไม่ยอมคืนให้ จึงขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์พิพาทและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ก่อนจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาท ผู้ร้องสอดได้ให้นายบุญเยี่ยมเช่าซื้อไป นายบุญเยี่ยมผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ร้องสอดจึงฟ้องนายบุญเยี่ยมต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งพิพากษาตามยอมให้นายบุญเยี่ยมกับพวกชำระเงิน ๒๓๐,๐๐๐ บาทแก่ผู้ร้องสอดแล้วให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเป็นของนายบุญเยี่ยม แต่นายบุญเยี่ยมไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวจึงยังคงเป็นของผู้ร้องสอดอยู่ ขอให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอด
จำเลยทั้งสามให้การว่า ไม่ขัดข้องในการที่จะคืนรถยนต์พิพาทให้แก่เจ้าของแต่ปรากฏว่าโจทก์และผู้ร้องสอดต่างอ้างว่าเป็นเจ้าของ ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานโดยแน่ชัดว่าเป็นของผู้ใดแน่ หากได้ความว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์หรือผู้ร้องสอด จำเลยทั้งสามก็ยินดีคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้นั้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้องของโจทก์และผู้ร้องสอด
โจทก์ทั้งสองให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดสละกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทตั้งแต่ผู้ร้องสอดทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายบุญเยี่ยมแล้วขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ให้ยกคำร้องสอด
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคารถยนต์พิพาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอด หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา ๒๗๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกอินเวสท์เม้นท์จำกัด ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์เก๋งยี่ห้อเบ๊นซ์ หมายเลขทะเบียนก.ท.ฑ – ๕๗๘๘ คันพิพาท ได้ให้นายบุญเยี่ยม โสภณ เช่าซื้อไปโดยมีนายบรรจบไทยสยาม เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ แต่นายบุญเยี่ยมผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ร้องสอดจึงฟ้องนายบุญเยี่ยมและนายบรรจบต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๑ ให้ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนและใช้ค่าเสียหายคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่านายบุญเยี่ยมและนายบรรจบยอมชำระเงิน ๒๓๐,๐๐๐ บาทให้แก่ผู้ร้องสอด เมื่อชำระเงินครบแล้วให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทตกเป็นของนายบุญเยี่ยม ศาลแพ่งได้พิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๑ ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๘๔๑๓/๒๕๒๑ ต่อมานายบุญเยี่ยมผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาดังกล่าวผู้ร้องสอดจึงดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งนั้นก่อนที่ผู้ร้องสอดจะฟ้องนายบุญเยี่ยมกับพวก ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๑๙ นายบุญเยี่ยมได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาท โดยมีข้อสัญญาว่านายบุญเยี่ยมจะจัดการโอนทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ที่ ๒ ภายใน ๒ – ๓ เดือน โจทก์ที่ ๒ ได้รับมอบรถยนต์พิพาทจากนายบุญเยี่ยมและชำระเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาทให้นายบุญเยี่ยมแล้ว แต่ต่อมานายบุญเยี่ยมไม่ได้นำทะเบียนรถยนต์พิพาทมาทำการโอนให้แก่โจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๒ จึงฟ้องนายบุญเยี่ยมต่อศาลจังหวัดขอนแก่นบังคับให้นายบุญเยี่ยมไปโอนทะเบียนรถยนต์เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๒๑ ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาให้นายบุญเยี่ยมจัดการโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๖๖/๒๕๒๑ ต่อมาประมาณเดือนธันวาคม ๒๕๒๑ โจทก์ที่ ๒ ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๑ แต่ยังไม่ได้โอนทะเบียนรถยนต์กัน โจทก์ที่ ๑ ได้ครอบครองรถยนต์พิพาทตลอดมาจนกระทั่งถูกจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกรมศุลกากรยึดไปเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๒ จำเลยที่ ๓ ทำการสอบสวนแล้วปรากฏว่ารถยนต์พิพาทถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีการแก้ไขหมายเลขตัวถัง แต่ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทขาดการต่ออายุทะเบียนและขาดการชำระภาษีรถยนต์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นมา ผู้ร้องสอดกับโจทก์ที่ ๒ ต่างกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทต่อกรมศุลกากรจำเลยที่ ๑ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา (พิพากษาเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๔) ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ แล้ว จำเลยก็ได้คืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ไปเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๔ แล้ววินิจฉัยว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทยังคงเป็นของผู้ร้องสอดอยู่ ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ ๓ ยุติลงแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ในปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยคืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีในส่วนของจำเลยเกี่ยวกับผู้ร้องสอดย่อมยุติไปด้วย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ก็ดี แต่ปรากฏว่าผู้ร้องสอดซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่สามได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดจึงมีประเด็นพิพาทว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดหรือไม่ เห็นว่าคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยังหาได้ยุติลงไม่
ส่วนในปัญหาตามข้อฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ว่า จำเลยไม่เห็นด้วยกับที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดเพราะเมื่อจำเลยคืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วจำเลยก็ไม่มีรถที่จะคืนให้แก่ผู้ร้องสอดได้อีก ผู้ร้องสอดชอบที่จะไปบังคับเอารถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์ที่ ๒ นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกานั้นจะต้องคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ดังกล่าวไม่ใช่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้ (เฉพาะในเรื่องค่าธรรมเนียม)

Share