คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2288/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 51 (2) (จ) ที่บัญญัติว่าเมื่อรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่สวนมาในทางเดินรถทางเดียวกันผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงให้เลี้ยวขวาไปได้ เป็นบทที่ใช้บังคับแก่ผู้ขับขี่ในทางเดินรถที่ไม่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจร หากในทางเดินรถใดมีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรบังคับไว้โดยเฉพาะ ผู้ขับขี่ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาณและเครื่องหมายจราจรนั้นตามมาตรา 21, 22
การที่จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์เลี้ยวขวาที่บริเวณสี่แยก ในขณะที่มีสัญญาณไฟจราจรลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวขวานั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งขับขี่รถมาในทางตรงและมีสัญญาณไฟจราจรสีแดงมีหน้าที่จะต้องหยุดรถอยู่หลังเส้นให้รถหยุดตามมาตรา 22 (2) จะนำมาตรา 51 (2) (จ) มาใช้บังคับในทางเดินรถที่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรหาได้ไม่ เมื่อรถที่จำเลยที่ 2 ขับมาชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับขณะเลี้ยวขวาบริเวณสี่แยกดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นผู้ขับขี่รถยนต์โดยประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ขับขี่รถยนต์ด้วยความประมาทกล่าวคือ จำเลยที่ ๑ ขับขี่รถยนต์จากท่าเรือคลองเตยมุ่งหน้าไปทางสี่แยกถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาตัดกับถนนสาธุประดิษฐ์ เพื่อจะเลี้ยวขวาเข้าถนนสาธุประดิษฐ์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์สวนทางมาตามถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจะตรงไปท่าเรือคลองเตย เมื่อจำเลยทั้งสองขับรถมาถึงบริเวณสี่แยกจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถเลี้ยวขวาเข้าไปโดยไม่จอดรอให้รถของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นรถทางตรงวิ่งผ่านสี่แยกไปก่อน ส่วนจำเลยที่ ๒ ก็ขับรถผ่านบริเวณสี่แยกด้วยความเร็วสูง ไม่ให้ทางแก่รถของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ลดความเร็วลงแล้วห้ามล้อในทันที เป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ ๒ ขับชนรถที่จำเลยที่ ๑ เสียหาย และรถที่จำเลยที่ ๑ ขับยังพุ่งเข้าชนรถยนต์คันอื่นเสียหายอีก ๑ คัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒…..ฯลฯ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับคนละ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ (๒)(จ) บัญญัติว่า เมื่อรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่สวนมาในทางเดินรถทางเดียวกันผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงให้เลี้ยวขวาไปได้ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา ๑๔๘ แต่ก็มีมาตรา ๒๑ บัญญัติว่า ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ และมาตรา ๒๒ บัญญัติว่าผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ปรากฏข้างหน้าในกรณีต่อไปนี้
(๔) สัญญาณจราจรไฟสีแดงแสดงพร้อมกับลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไปให้ผู้ขับขี่เลี้ยวรถหรือขับรถตรงไปได้ตามทิศทางที่ลูกศรชี้
ในการใช้ทางตามที่ลูกศรชี้ ผู้ขับขี่ต้องใช้ทางด้วยความระมัดระวังและต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้าม หรือผู้ขับขี่มาทางขวาก่อน ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ และ ๒๒ มีโทษตามมาตรา ๑๕๒ โดยที่มาตรา ๕๑ บัญญัติอยู่ในลักษณะ ๓ ว่าด้วยการใช้ทางเดินรถ ส่วนมาตรา ๒๑ และ ๒๒ บัญญัติอยู่ในลักษณะ ๒ ว่าด้วยสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร จึงเป็นที่เห็นได้ว่ามาตรา ๕๑ (๒) (จ) เป็นบทที่ใช้บังคับแก่ผู้ขับขี่ในทางเดินรถโดยทั่วไปที่ทางเดินรถนั้นไม่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรปรากฏอยู่ข้างหน้าหากในทางเดินรถใดมีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรบังคับไว้โดยเฉพาะ ผู้ขับขี่ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรนั้น มิฉะนั้นจะได้รับโทษตามมาตรา ๑๕๒ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังเป็นยุติว่า การที่จำเลยที่ ๑ ขับขี่รถเลี้ยวขวาตรงบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุเพื่อเข้าถนนสาธุประดิษฐ์ ขณะนั้นสัญญาณไฟจราจรที่สี่แยกที่เกิดเหตุมีลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวขวาได้ ดังนั้นจำเลยที่ ๑ จึงมีหน้าที่ตามมาตรา ๒๑ และ ๒๒ (๔) ที่จะต้องขับขี่รถไปตามที่ลูกศรชี้นั้นโดยจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ต้องระมัดระวังและให้สิทธิเฉพาะแก่คนเดินเท้าในทางข้ามหรือผู้ที่ขับขี่รถมาทางขวาเท่านั้น ที่จะต้องยอมให้ผ่านไปก่อนตามมาตรา ๒๒ (๔) วรรคสอง และตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๒ (๔) วรรคแรก ดังกล่าวแล้วข้างต้นก็เป็นที่เห็นได้ว่าขณะที่บริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุมีสัญญาณไฟจราจรลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวขวาอยู่นั้น ในด้านถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่มาจากสะพานกรุงเทพซึ่งจำเลยที่ ๒ ขับขี่รถเพื่อจะตรงไปคลองเตยย่อมได้รับสัญญาณไฟจราจรสีแดง จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่จะต้องหยุดรถอยู่หลังเส้นให้รถหยุดตามมาตรา ๒๒ (๒) ทั้งมาตรา ๒๒ (๔) ก็มิได้บัญญัติให้จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ต้องรอให้รถยนต์ทางด้านซ้ายที่จำเลยที่ ๒ ขับขี่รถมาในทางตรงผ่านไปก่อนด้วยแต่ประการใด การที่จำเลยที่ ๑ ขับขี่รถเลี้ยวขวาที่บริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุเพื่อเข้าถนนสาธุประดิษฐ์ไปตามทิศทางที่สัญญาณไฟจราจรลูกศรสีเขียวชี้ให้ขับรถเลี้ยวขวาได้ จึงเป็นการที่จำเลยที่ ๑ ขับขี่รถไปโดยชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา ๒๑ และ ๒๒ (๔) แล้ว จะนำบทบัญญัติมาตรา ๕๑ (๒)(จ) มาใช้บังคับแก่การใช้ทางเดินรถในทางที่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรปรากฏอยู่ข้างหน้าหาได้ไม่ จำเลยที่ ๑ จึงมิได้เป็นผู้ขับขี่รถยนต์โดยประมาท
พิพากษายืน

Share