แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ว่าในคำร้องของผู้เสียหายจะบรรยายว่าขอถอนฟ้องก็ตาม แต่ในคำร้องก็ระบุข้อความชัดเจนว่า เนื่องจากผู้เสียหายและจำเลยตกลงกันได้แล้ว ผู้เสียหายจึงไม่มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยต่อไป แสดงว่าผู้เสียหายไม่ติดใจว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยและประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์นั่นเอง แต่ใช้ข้อความผิดไปเป็นถอนฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คสามฉบับชำระหนี้ให้แก่นายยู่หั่งผู้เสียหายต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้เรียงกระทงลงโทษตามจำนวนเช็ค
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้เรียงกระทงลงโทษ
จำเลยฎีกา
ระหว่างฎีกาผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า เนื่องจากผู้เสียหายกับจำเลยตกลงกันได้แล้ว ผู้เสียหายไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยต่อไปจึงขอถอนฟ้อง จำเลยไม่คัดค้านและโจทก์ทราบคำร้องแล้วไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ว่าผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยก็ตามแต่ในคำร้องของผู้เสียหายก็ระบุข้อความชัดเจนว่า “แต่เนื่องจากผู้เสียหายและจำเลยตกลงกันได้แล้ว ดังนั้นผู้เสียหายจึงไม่มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยต่อไป” แสดงว่า ผู้เสียหายไม่ติดใจว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยและประสงค์จะขออนคำร้องทุกข์นั่นเอง แต่ใช้ข้อความผิดไปเป็นถอนฟ้อง เพราะความจริงคดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ผู้เสียหายมิได้ยื่นฟ้องจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๒) แล้ว
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี