คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1005/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มาตรา 31 ซึ่งห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ในระหว่างการเจรจาการไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน นั้น ลูกจ้างจะต้องบรรยายฟ้องว่าลูกจ้างเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอย่างไร เมื่อลูกจ้างมิได้บรรยายฟ้องว่าลูกจ้างเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องอย่างไรแล้ว ลูกจ้างจะอาศัยประโยชน์จากบทบัญญัติมาตรา 31 มาเป็นการตัดสิทธินายจ้างมิให้ เลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างที่ยังไม่มีการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานมิได้
โจทก์เป็นอัมพาตทำงานให้จำเลยไม่ได้ จำเลยย่อมเลิกจ้าง โจทก์ได้กรณีเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๙ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๒๒ โจทก์เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ต่อมาวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๕ จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นการเลิกจ้างในขณะที่สหภาพดังกล่าวยื่นข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและข้อเรียกร้องอยู่ระหว่างเจรจาไกล่เกลี่ยและชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน โดยจำเลยอ้างเหตุในการเลิกจ้างว่าโจทก์ไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่เต็มประสิทธิภาพเพราะร่างกายไร้สมรรถภาพในการทำงาน ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงโจทก์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนพนักงานอื่นและได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนปีละ ๑ ขั้นตลอดมา การเลิกจ้างโจทก์ไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑(๑) ถึง (๔) การกระทำดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม มาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ทำให้โจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน ๓๖๒,๔๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ ๓๖๒,๔๐๐บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มีอาการป่วยเป็นโรคอัมพาตที่มือขวาและขาทั้งสองข้างลีบ ไม่มีกำลังช่วยเหลือตัวเองได้โดยลำพัง จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เกี่ยวกับการที่โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงรับว่า ขณะเลิกจ้างอยู่ในระหว่างที่สหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยและข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ย
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังว่า โจทก์เป็นอัมพาตทำงานให้จำเลยไม่ได้ โจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง
ผู้พิพากษาสมทบทำความเห็นแย้งว่า การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม มาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ ไม่ปรากฏว่าการที่สหภาพแรงงานซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกอยู่ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น เป็นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในเรื่องอะไรและโจทก์ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้นหรือไม่ บทบัญญัติในมาตรา ๓๑ ที่โจทก์อ้าง ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเท่านั้น ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องอย่างไรโจทก์ก็จะอาศัยประโยชน์จากบทบัญญัติของมาตรา ๓๑ นี้ มาเป็นการตัดสิทธิจำเลยมิให้เลิกจ้างโจทก์ในระหว่างที่ยังไม่มีการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานไม่ได้ข้ออ้างของโจทก์ตามมาตรา ๓๑ จึงตกไป ส่วนประเด็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น เมื่อโจทก์เป็นอัมพาตทำงานให้จำเลยไม่ได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน

Share