คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีฟ้องเรียกเงินตามเช็ค แม้ธนาคารจะได้เรียกเก็บเงินตามเช็คก่อนวันที่ลงในเช็ค หากบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้ปิดไปก่อนที่ธนาคารเรียกเก็บเงินแล้ว ก็เป็นอันว่าเช็คนั้นไม่มีผลเป็นการชำระหนี้ได้ ไม่จำต้องนำเช็คไปยื่นเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินซ้ำอีกในกรณีเช่นนี้ผู้ทรงเช็คย่อมนำเช็คมาฟ้องร้องผู้สั่งจ่ายเช็คให้รับผิดในทางแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 959 และ 989
จำเลยต่อสู้คดีว่าเช็คตามฟ้อง 400,000 บาท มีมูลหนี้จากการกู้เงินเพียง 100,000 บาท เป็นการโต้เถียงเกี่ยวกับมูลหนี้ตามเช็คระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้ออกเช็คกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ชอบที่จะให้จำเลยนำสืบตามข้อต่อสู้ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2589/2522)
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน 400,000 บาท โดยมีมูลหนี้เพียง 100,000 บาท จำเลยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงจำนวนเงินตามมูลหนี้เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกสิกรไทยสาขาราชดำริลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ จำนวนเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายและนำมาชำระหนี้เงินยืมแก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นผู้สลักหลังรับอาวัล เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าบัญชีปิด ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้ศาลบังคับ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์นำเช็คตามฟ้องเรียกเก็บเงินจากธนาคารก่อนถึงกำหนดวันสั่งจ่ายหนึ่งวัน และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกันนั้นเองโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง ความจริงจำเลยที่ ๑ ออกเช็คให้โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินยืมซึ่งจำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาจะชำระเงินจำนวนตามเช็คให้โจทก์ จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์เพียงหนึ่งแสนบาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินหนึ่งแสนบาทพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในกรณีฟ้องเรียกเงินตามเช็ค แม้ว่าธนาคารจะได้เรียกเก็บเงินตามเช็คก่อนวันที่ลงในเช็ค หากบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้ปิดไปก่อนที่ธนาคารเรียกเก็บเงินแล้ว ก็เป็นอันว่าเช็คนั้นไม่มีผลเป็นการชำระหนี้ได้ ไม่จำต้องนำเช็คไปยื่นเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินซ้ำอีก ในกรณีเช่นนี้ผู้ทรงเช็คย่อมนำเช็คมาฟ้องร้องผู้สั่งจ่ายเช็คให้รับผิดในทางแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๕๙ และมาตรา ๙๘๙
จำเลยต่อสู้คดีว่าเช็คตามฟ้อง ๔๐๐,๐๐๐ บาท มีมูลหนี้จากการกู้ยืมเงินเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการโต้เถียงเกี่ยวกับมูลหนี้ตามเช็คระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้ออกเช็คกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ชอบที่จะให้จำเลยนำสืบตามข้อต่อสู้ได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๘๙/๒๕๒๒ ดังนั้นจำเลยมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าเช็คพิพาทมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงินเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท หาใช่มีมูลหนี้ ๔๐๐,๐๐๐ บาท ดังเนื้อความที่ปรากฏในเช็คพิพาทไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาทเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คประกันการกู้ยืมเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทเช็คพิพาทจึงปราศจากมูลหนี้ จำเลยที่ ๑ ผู้สั่งจ่ายไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เลย และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ย่อมหลุดพ้นไปจากความรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า แม้คดีฟังได้ว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นเรื่องกู้ยืมเงิน แต่ฟ้องโจทก์ประสงค์จะบังคับจำเลยทั้งสามให้รับผิดตามเนื้อความในเช็ค เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ สั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยมีมูลหนี้เพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ สลักหลังเช็คนั้น เช่นนี้จำเลยทั้งสามย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คดังกล่าว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share