คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3910/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 10 ระบุไว้ว่า “ข้อตกลงใดที่กระทำด้วยวาจานอกเหนือจากที่บันทึกไว้แล้วนี้ต่อหน้านายพิเชษฐพันธุ์วิชาติกุล ทนายความ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มอบให้เป็นผู้ดำเนินการประนีประนอมจนเกิดเป็นข้อตกลงนี้ทั้งหมด ให้นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุลเป็นผู้ชี้ขาด” แต่เมื่อสัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย อันมีผลให้โจทก์จำเลยต่างได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาดังกล่าว ดังนั้นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วยวาจาอย่างใดที่มิได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญานี้คู่ความจะนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 (ข)
สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งคู่สัญญาจำต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาที่ระบุไว้ทุกข้อ อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนนั้นเมื่อฝ่ายหนึ่งยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามสัญญา ก็จะหยิบยกข้อตกลงเฉพาะข้อหนึ่งข้อใดมาบังคับเอากับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อเป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเข้าหุ้นกันค้าที่ดิน ต่อมาวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๑๗ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตกลงกันว่าบรรดาที่ดินให้ตกเป็นของจำเลย หนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆที่มีต่อบุคคลภายนอกจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบ และจำเลยยอมจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นเงิน ๑,๔๕๐,๐๐๐ บาท หากมีกรณีพิพาทหรือข้อเรียกร้องใด ๆ จากบุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญากับโจทก์มาแต่เดิมเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกบังคับชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๕ วรรคแรก เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๒ โจทก์กับนางบุบผาได้ร่วมกันซื้อที่ดินจากนางนวม และค้างชำระเงินอยู่ ๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งโจทก์ได้ทำสัญญากับนางนวมว่าจะชำระให้เมื่อโจทก์ได้รับโฉนดที่แบ่งแยกแล้ว โจทก์ได้รับโฉนดที่แบ่งแยกเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ แต่จำเลยหาได้ไปรับโอนหนี้ดังกล่าวจากนางนวมเพื่อปลดเปลื้องภาระของโจทก์ตามสัญญา และจำเลยรับโอนโฉนดที่แบ่งแยกไปตามสัญญาแล้ว เป็นเหตุให้นางนวมฟ้องโจทก์ และศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไปแล้ว โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระ จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้เงินที่โจทก์ต้องเสียไป
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่ยังตกลงด้วยวาจากันอีกว่า โจทก์จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ร่วมกันซื้อจากนางนวมตามฟ้องให้แก่จำเลยทั้งหมดด้วย โจทก์จำเลยต่างจะต้องปฏิบัติพร้อมกัน และตกลงกันว่าจำเลยจะรับภาระผูกพันต่อเมื่อไม่มีสายไฟแรงสูงผ่านที่ดิน จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ยังไม่โอนที่ดินของนางนวมและที่ดินอื่น ๆ ให้จำเลยโจทก์และนางนวมเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยเข้าหุ้นกันค้าขายที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ไม่ได้ทำบัญชีกันไว้ ต่อมาทั้งสองฝ่ายประสงค์จะเลิกกิจการจึงทำสัญญาข้อตกลงจัดการทรัพย์สินและระงับข้อพิพาทกันไว้เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๑๗ ปรากฏตามสัญญาท้ายฟ้อง หรือเอกสารหมาย ล.๓ ต่อมาโจทก์ถูกนางนวม ช้างแก้ว ฟ้องให้ชำระค่าที่ดินที่โจทก์ซื้อมาระหว่างเข้าหุ้นกับจำเลย ศาลพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าที่ดินดอกเบี้ย และค่าฤชาธรรมเนียมรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๗๗,๕๙๐ บาท ซึ่งโจทก์ได้ชำระให้นางนวม ช้างแก้วไปแล้วปรากฏตามคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๐๘๗๒/๒๕๒๐
ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๗๗,๕๙๐ บาทแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญาเอกสารท้ายฟ้องหรือเอกสารหมาย ล.๓ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์จำเลยได้เข้าหุ้นกันค้าขายที่ดิน อันมีผลให้โจทก์จำเลยต่างได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาดังกล่าว ดังนั้นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วยวาจาอย่างใดที่มิได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญานี้คู่ความจะนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาดังกล่าวไม่ได้เพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔(ข) แม้สัญญาเอกสารหมาย ล.๓ ข้อ ๑๐ ระบุไว้ว่า “ข้อตกลงใดที่กระทำด้วยวาจานอกเหนือจากที่บันทึกไว้แล้วนี้ต่อหน้านายพิเชษฐ พันธ์วิชาติกุล ทนายความซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มอบให้เป็นผู้ดำเนินการประนีประนอมจนเกิดเป็นข้อตกลงนี้ทั้งหมด ให้นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล เป็นผู้ชี้ขาด” ก็จะนำมากล่าวอ้างเพื่อฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จึงไม่จำต้องพิจารณาถึงข้อนำสืบของจำเลยที่ว่านอกจากสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.๓ แล้ว ยังมีข้อตกลงด้วยวาจาอีกว่า โจทก์จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งร่วมกันซื้อจากนางนวม ช้างแก้วให้จำเลยด้วยและจำเลยจะรับภาระผูกพันเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทต่อเมื่อไม่มีสายไฟแรงสูงผ่านที่ดินแปลงนี้ ถ้ามีจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบอีก
คงมีปัญหาที่จะต้องตีความในสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.๓ ข้อ ๑ ถึง ๙ เท่านั้น ได้พิจารณาข้อความของสัญญาดังกล่าวโดยตลอดแล้ว เห็นว่า มีข้อความเกี่ยวโยงกัน ซึ่งคู่สัญญาจำต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาที่ระบุไว้ทุกข้อ มิใช่แยกปฏิบัติต่อกันเป็นรายข้อดังที่โจทก์ฎีกาสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่จำเลยจะได้รับที่ดินตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ ๑(๑) ถึง (๕) ไปทั้งหมดนั้นจำเลยจะต้องรับภาระหนี้สินผูกพันที่มีต่อบุคคลภายนอก หรือหากโจทก์ถูกบุคคลภายนอกเรียกร้องหนี้สินตามข้อผูกพันดังกล่าว โจทก์มีสิทธิให้จำเลยใช้แทน และจำเลยต้องจ่ายเงินจำนวน ๑,๔๕๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์อีกด้วย ดังนี้โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยต้องโอนที่ดินตามข้อ ๑(๑) ถึง (๕) ให้แก่จำเลย และจำเลยก็ต้องชำระเงินจำนวน ๑,๔๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์และรับภาระหนี้สินต่าง ๆ เป็นการตอบแทน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า จำเลยได้ชำระเงิน ๑,๔๕๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์รับไปครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้โอนที่ดินให้จำเลยครบถ้วนตามสัญญา โดยยังมิได้โอนที่ดินตามที่ระบุในสัญญาข้อ ๑(๓) (๔) ให้โจทก์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาฉะนั้นโจทก์จะอ้างเอาสัญญาเฉพาะข้อ ๕ มาบังคับเอากับจำเลยเพื่อเป็นประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียวหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อสัญญาข้อ ๔ ซึ่งระบุไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยจะต้องรับภาระหนี้สินต่อบุคคลภายนอกและชำระเงินตามสัญญาข้อ ๓(๒) ต่อเมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลย เช่นนี้ตราบใดที่โจทก์ยังโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาข้อ ๑ ให้จำเลยไม่ได้ทั้งหมด จำเลยก็ไม่จำต้องรับภาระหนี้สินที่โจทก์ถูกนางนวม ช้างแก้ว ฟ้องร้องเอาจากโจทก์ เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังข้อต่อสู้ของจำเลย ข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยได้ทันทีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๕ นั้นฟังไม่ขึ้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชนะคดีชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share