คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3420/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลให้การว่าไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนดำเนินการขายลดเช็คแก่โจทก์จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาโดยพลการ ส่วนจำเลยที่ 2 กลับต่อสู้ว่าไม่เคยนำเช็คมาขายให้โจทก์ แต่ถ้าทำก็ทำในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 จึงเป็นการขัดกันเองอยู่ในตัว
โจทก์ฟ้องคดีตามสัญญาซื้อขายซึ่งจำเลยนำเช็คมาทำสัญญาขายลดให้โจทก์ มิได้ฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลย ในฐานะผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังจึงมีอายุความ 10 ปี
สัญญาค้ำประกันที่โจทก์อ้างเป็นการค้ำประกันในวงเงิน 150,000 บาท และ 1,500,000 บาท ซึ่งตามประมวลรัษฎากรจะต้องปิดอากรแสตมป์ฉบับละ 10 บาท เมื่อปิดอากรแสตมป์เพียงฉบับละ 5 บาท จึงถือได้ว่าเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้และเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้นำเช็ค ๕ ฉบับซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายมาทำสัญญาขายลดให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไว้ต่อโจทก์ ๒ ฉบับ เมื่อถึงกำหนดชำระเงินโจทก์นำเช็คทั้ง ๕ ฉบับเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าไม่เคยนำเช็คมาขายลดให้โจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ทำสัญญาโดยพลการ เอกสารท้ายฟ้องหมาย ๕ และ ๗ เป็นเอกสารปลอมเอกสารหมายเลข ๓, ๔, ๕, ๖ และ ๗ ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่เคยนำเช็คมาขายลดให้โจทก์ หากจำเลยที่ ๒ ทำขึ้นก็ทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๕ และ ๗ เป็นเอกสารปลอม และเอกสารหมายเลข ๓, ๔, ๕, ๖ และ ๗ ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีหนี้ตามฟ้องจำเลยที่ ๒ ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหรือสลักหลังเช็คให้ไว้แก่โจทก์ สัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอม ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายโจทก์ไม่มีสิทธิอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานฟ้องคดีได้ คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ให้การว่าไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ ๒ ดำเนินการขายลดเช็ค จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ทำสัญญาโดยพลการ ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ ๑ ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นหนี้ ฉะนั้นแม้จะมีการชำระหนี้ก็ไม่มีประโยชน์อันใดแก่จำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลกลับต่อสู้ว่าไม่เคยนำเช็คมาขายให้โจทก์ แต่ถ้าทำก็ทำในฐานะตัวแทนจำเลยที่ ๑จึงเป็นการขัดกันเองอยู่ในตัว ส่วนที่ต่อสู้ว่าหนี้ตามฟ้องจำเลยที่ ๒ ชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วก็ไม่ชัดแจ้งว่าชำระในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ หรือในฐานะส่วนตัว ซึ่งถ้าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ก็ขัดกับคำให้การของจำเลยที่ ๑ ถ้าเป็นการชำระในฐานะส่วนตัว ก็ขัดกับคำให้การของตนเองที่ว่าทำในฐานะตัวแทนจำเลยที่ ๑ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความจริงอย่างไรแน่
ปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามสัญญาซื้อขายโดยจำเลยนำเช็คมาทำสัญญาขายลดให้โจทก์และได้รับเงินค่าขายลดไปครบถ้วนแล้วแต่เมื่อโจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยนำมาขาย จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามสัญญา หาใช่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังไม่ ฉะนั้นคดีของโจทก์จึงมีอายุความ ๑๐ ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ และตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๓/๒๕๒๒
จำเลยที่ ๓ ให้การต่อสู้คดีว่าไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้อง สัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอมและเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิอ้างเป็นพยานหลักฐานฟ้องคดีได้ และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไว้แต่เพียงว่าจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องหรือไม่โดยไม่ได้พูดถึงเลยว่าสัญญาค้ำประกันนี้สมบูรณ์ใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ ฉะนั้นจึงถือไม่ได้ว่าปัญหานี้ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น อย่างไรก็ดีเมื่อจำเลยต่อสู้ว่าไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นเอกสารปลอมโจทก์จะต้องอ้างหนังสือสัญญาค้ำประกันนี้เป็นพยานหลักฐานในคดีเมื่อสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อ้างค้ำประกันในวงเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท และ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับซึ่งตามประมวลรัษฎากรจะต้องปิดอากรแสตมป์ฉบับละ ๑๐ บาท แต่สัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับที่โจทก์อ้างต่อศาลปิดอากรแสตมป์เพียงฉบับละ ๕ บาท จึงถือได้ว่าเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์และไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๑๑๘ การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่มีลายมือชื่อผู้ค้ำประกันจึงไม่อาจฟ้องคดีให้จำเลยที่ ๓ รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓

Share