คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3226/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาสั่งในคำร้องขอให้รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุผลสมควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาจึงอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้” คำสั่งดังกล่าวถือไม่ได้ว่าได้อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะในคำสั่งมิได้แสดงว่ามีข้อความใดที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221
คำว่า “มารศาสนา” ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึงบุคคลผู้มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำบุญและกีดกันบุญกุศลที่จะมาถึงตน ซึ่งเป็นบุคคลประเภทที่ สาธารณชนย่อมรังเกียจที่จะคบหาสมาคมด้วย จำเลยพูดว่าผู้เสียหายด้วยถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าผู้เสียหาย จึงต้องมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบอธิบายความหมายอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๓ เวลากลางวัน จำเลยได้ดูหมิ่นนายนิล ใจกว้าง ผู้เสียหาย ซึ่งหน้า โดยจำเลยพูดว่า “มารศาสนา” เหตุเกิดที่ตำบลเกาะหวาน อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาข้อเท็จจริง ปรากฏว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีคำสั่งในคำร้องที่จำเลยขอให้รับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุผลสมควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา จึงอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้” เห็นได้ว่าคำสั่งดังกล่าวมิได้มีข้อความใดที่แสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษานั้นได้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ไม่ได้
สำหรับข้อความว่า “มารศาสนา” ซึ่งจำเลยพูดว่าผู้เสียหาย จะเป็นถ้อยคำดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามความหมายในพจนานุกรมสรุปรวมความแล้ว หมายถึงบุคคลผู้มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำบุญและกีดกันบุญกุศลที่จะมาถึงตน ซึ่งเป็นบุคคลประเภทที่สาธารณชนย่อมรังเกียจที่จะคบหาสมาคมด้วย เมื่อจำเลยพูดว่าผู้เสียหายด้วยถ้อยคำดังกล่าว ต่อหน้าผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ตำรวจพยานโจทก์ ย่อมทำให้ผู้เสียหายถูกดูถูกเหยียดหยามทำให้ได้รับความอับอายจำเลยย่อมมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และคำว่า “มารศาสนา” เป็นถ้อยคำภาษาไทยที่สามัญชนฟังแล้วย่อมเข้าใจได้ในตัวเองว่ามีความหมายดังกล่าวข้างต้น มิใช่ถ้อยคำพิเศษที่สามัญชนฟังแล้วไม่เข้าใจ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบอธิบายความหมายอีก และไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำติชมตามปกติวิสัยหรือเป็นคำพูดประชดประชันแดกดันดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน

Share