คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องด้วยวาจาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2524 ว่าจำเลยกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสและกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ปรากฏในบันทึกคำฟ้องของศาลว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 31 มิถุนายน 2524 อันเป็นวันภายหลังที่โจทก์ฟ้อง แต่ปรากฏตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายและคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังว่าจำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2524 และต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2524 จำเลยมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ในวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยก็ยังได้ยื่นคำร้องยอมรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริง แสดงว่าจำเลยทราบดีถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ การที่ศาลบันทึกวันกระทำผิดของจำเลยผิดพลาดไปเป็นเรื่องของความพลั้งเผลอจึงหาใช่เป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้องไม่ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๐ ปรากฏในบันทึกของศาลว่าเมื่อวันที่ ๓๑ มิถุนายน ๒๕๒๔ เวลา ๑๒ นาฬิกา จำเลยขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัสแล้วจำเลยหลบหนีไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุแก่เจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓(๔), ๑๕๗, ๗๘ วรรคแรก, ๑๖๐ วรรคแรก
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกและปรับจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่าโจทก์ฟ้องจำเลยด้วยวาจา เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ แต่ปรากฏในบันทึกคำฟ้องของศาลว่า จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ ๓๑ มิถุนายน ๒๕๒๔ มีปัญหาว่าจะเป็นการฟ้องและพิพากษาล่วงหน้าหรือเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดภายหลังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องศาลโดยมิต้องทำการสอบสวน และให้ฟ้องด้วยวาจา ทั้งนี้เพื่อให้คดีเสร็จไปโดยรวดเร็ว โดยมิต้องนำหลักเกณฑ์การฟ้องคดีอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ ดังจะเห็นได้ว่า แม้กระทั่งการสอบสวนก็ไม่ต้องกระทำ สำหรับวันกระทำผิดที่ศาลบันทึกไว้นั้น เมื่อได้ตรวจดูบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายและคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังครั้งที่ ๑ แล้ว ก็ปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๔ เวลา ๑๒ นาฬิกา วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๔ จำเลยมามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน จึงเป็นที่เห็นได้ว่า การที่ศาลจดบันทึกวันกระทำผิดของจำเลยเป็นวันที่ ๓๑ มิถุนายน ๒๕๒๔ ตามบันทึกหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจานั้นเป็นเรื่องความพลั้งเผลอ จำเลยเองก็ยอมรับสารภาพมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ในวันฟ้องนอกจากศาลจะบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยแล้วจำเลยยังได้ยื่นคำร้องยอมรับสารภาพว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ขอให้ลงโทษแก่จำเลยในสถานเบาหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยด้วย แสดงว่าจำเลยทราบดีถึงการกระทำความผิดของจำเลยและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงหาใช่เป็นการฟ้องและพิพากษาล่วงหน้าหรือเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้องไม่
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share