แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปหัวสิงโตหน้าตรง อ้าปากคำรามอยู่ในกรอบรูปไข่สองชั้น ส่วนบนเป็นรูปลายฝรั่ง ส่วนล่างมีอักษรโรมันคำว่า “LION” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า สิงโต อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมทับบนกรอบรูปไข่ ส่วนของจำเลยเป็นรูปหัวสิงโตหน้าตรง อ้าปากคำรามอยู่ภายในกรอบรูปวงกลมสองชั้น ไม่มีตัวอักษร ที่ใต้วงกลมมีรูปช่อรวงข้าวสองช่อโค้งรองรับตามขอบวงกลม แต่ไม่จรดกัน ระหว่างรวงข้าวทั้งสองช่อมีโบผูกห้อยชายอยู่ตรงกลาง หากพิจารณาแต่เพียงส่วนประกอบก็จะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยแตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณารวมทั้งหมดจะเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกันมาก เพราะเป็นรูปหัวสิงโตหน้าตรงอ้าปากคำรามอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นสารสำคัญของเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่าย ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีประชาชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตขึ้น จำเลยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน การที่จำเลยเลือกใช้เครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกับโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แม้จะใช้สำหรับสินค้าคนละประเภทกับโจทก์ ก็เป็นการลวงให้สาธารณชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับของโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิเครื่องหมายการค้าตราไลอ้อนหรือหัวสิงห์ ใช้กับสินค้าจำพวก ๑๕ สินค้าของโจทก์มีผู้นิยมแพร่หลาย จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราหัวสิงโต ใช้กับสินค้าจำพวก ๔๒ โจทก์เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีรูปลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับของโจทก์จนสามารถลวงให้ประชาชนหลงผิดเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไป
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยไม่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และเป็นสินค้าคนละประเภท ไม่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าหลงผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามฟ้อง ให้นายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปหัวสิงโตหน้าตรง อ้าปากคำรามอยู่ภายในกรอบรูปไข่สองชั้น ส่วนบนเป็นรูปลายฝรั่งส่วนล่างมีอักษรโรมันคำว่า LION ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่าสิงโต อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมทับบนกรอบรูปไข่ ส่วนของจำเลยเป็นรูปหัวสิงโตหน้าตรงอ้าปากคำรามอยู่ภายในกรอบรูปวงกลมสองชั้นไม่มีตัวอักษร ที่ใต้วงกลมมีรูปช่อรวงข้าวสองช่อโค้งรองรับตามขอบวงกลม แต่ไม่จรดกันระหว่างรวงข้าวทั้งสองช่อมีโบผูกห้อยชายอยู่ตรงกลาง หากพิจารณาแต่เพียงส่วนประกอบก็จะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยแตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณารวมทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยคล้ายคลึงกันมาก เพราะเป็นรูปหัวสิงโตหน้าตรงอ้าปากคำรามอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นสารสำคัญของเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่าย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า รูปหัวสิงโตของโจทก์หน้าตาดุ กับขนหัวและขนคอมีลวดลายแตกต่างกับของจำเลยจนเห็นได้ชัดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในการซื้อสินค้าประชาชนโดยทั่วไปย่อมไม่มีเวลาพอที่จะพินิจพิจารณาว่าสิงโตของใครหน้าตาดุกว่ากัน และขนหัวขนคอแตกต่างกันอย่างไร โจทก์มีนายวิสันต์ ยิ่งดำรงค์ ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัท เอส. เอส. เอส. พัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ เบิกความเป็นพยานว่า สินค้าแป้งข้าวเหนียมตราหัวสิงห์ของจำเลยมีลูกค้าสอบถามมาว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากบริษัทโจทก์หรือไม่ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสุทัศน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล ผู้จัดการฝ่ายขายและฝ่ายโรงงานของโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า มีลูกค้าสอบถามเกี่ยวกับสินค้าแป้งข้าวเหนียวซึ่งมีเครื่องหมายการค้าตราหัวสิงโต พยานเข้าใจว่า เป็นสินค้าของบริษัทในเครือเดียวกับโจทก์ เพิ่งมาทราบความจริงใจภายหลัง จำเลยมิได้นำสืบหักล้างแต่ประการใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ามีประชาชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตขึ้น ยิ่งกว่านั้นจำเลยเองยังเบิกความรับว่า แป้งของจำเลยเรียกว่าแป้งตราหัวสิงห์เหมือนกับที่เรียกกระติกน้ำของโจทก์ว่ากระติกน้ำตราหัวสิงห์และจำเลยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน การที่จำเลยเลือกใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปหัวสิงโตหรือหัวสิงห์เช่นเดียวกับโจทก์ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยจะอ้างว่าจำเลยคิดประดิษฐ์ขึ้นเองหาได้ไม่แม้จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าคนละประเภทกับโจทก์ก็เป็นการลวงให้สาธารณชนหลงผิดในความเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นการลวงขายสินค้าเช่นเดียวกันศาลฎีกาเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับของโจทก์จนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าเจ้าของเดียวกับของโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น