คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการริเริ่ม วิจัย สนับสนุน ฝึกอบรมและให้บริการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้ในการให้บริการจะเรียกเก็บเงินจากผู้ขอบริการบ้างก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงค่าใช้จ่ายซึ่งสถาบันฯ ได้ออกไปจริงกับผู้ขอบริการ และบางกรณีถ้าผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สถาบันฯ ก็อาจไม่คิดค่าบริการได้ ดังนี้ไม่ถือว่ากิจการของจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๔,๑๓๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอคิดค่าเสียหายจากค่าชดเชยจำนวน ๘๔,๗๘๐ บาท ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๔ ถึงวันฟ้อง รวม ๘๐ วันเป็นเงิน ๒,๗๘๗ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๘๔,๗๘๐ บาท และค่าเสียหาย ๒,๗๘๗ บาท รวมเป็นเงิน ๘๗,๖๕๗ บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายในอัตราร้อยละสิบห้าจากต้นเงิน ๘๔,๘๗๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า สถาบันฯ จำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่อยู่ในบังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖ ได้บัญญัติถึงวัตถุประสงค์ของสถาบันดังกล่าวไว้รวม ๕ ข้อ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการริเริ่ม วิจัย สนับสนุน ฝึกอบรม และให้บริการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่ไม่ปรากฏว่าระบุวัตถุประสงค์ในการแสวงกำไรทางเศรษฐกิจไว้เลย ตามเอกสารหมาย ล.๑ คำสั่งบริหารเลขที่ คบ.๑๕/๔๘ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๑๕ เรื่องระเบียบการปฏิบัติการรับบริการการวิจัยและเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคของสถาบันฯ ข้อ ๘ กรณีที่ควรจะมีการศึกษาวิจัยเป็นขั้นแรกให้คิดค่าบริการเพียงแต่ค่าใช้จ่ายซึ่งสถาบันได้ออกไปจริงกับผู้ขอบริการ ข้อ ๙ ในกรณีที่ผลของการวิจัยจะทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยทั่วไปหรือกิจการต่าง ๆ ของประชาชนโดยส่วนรวมมากกว่าที่จะนำไปใช้เฉพาะสำหรับผู้ขอบริการรายใดรายหนึ่งเท่านั้น สถาบันฯ อาจจะไม่คิดค่าบริการได้ อย่างไรก็ตามสถาบันฯ อาจขอความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการดำเนินการวิจัยนั้นตามสมควร และแล้วแต่ความสมัครใจของผู้รับบริการ ในข้อ ๙ ง. วางระเบียบเกี่ยวกับค่าลดหย่อนไว้ว่า เนื่องด้วยสถาบันฯเป็นองค์การของรัฐบาลที่มิได้ดำเนินการค้าเพื่อหากำไรและอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนายังไม่ยอมรับถึงความจำเป็นและคุณค่าของการวิจัยโดยเต็มที่ ฉะนั้น จึงเห็นเป็นการสมควรลดหย่อนค่าบริการจากอัตราปกติ ทั้งนี้เพื่อชักจูงใจให้บริษัทเอกชนใช้บริการของสถาบันฯ มากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ฯลฯ เห็นได้ชัดว่าการคิดค่าบริการวิจัย คิดเท่าที่จำเป็นที่จะนำไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการวิจัย และถ้าผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมสถาบันฯ ก็อาจไม่คิดค่าบริการได้ ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้มีการใช้บริการของสถาบันฯเพิ่มมากขึ้น เพื่อประโยชน์ส่วนรวมตามเอกสารหมาย จ.๑, จ.๒ บัญชีรายได้และรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘, พ.ศ. ๒๕๑๙ รายได้ของสถาบันฯส่วนใหญ่ได้แก่เงินอุดหนุนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีรายได้อื่น ๆ อีก ในบรรดารายได้อื่นนี้ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มีกำไรจากการขายทรัพย์สินเพียง ๖,๗๒๒ บาท ๕๐ สตางค์ ส่วนปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ไม่มีกำไรดังกล่าว โดยสรุปแม้สถาบันฯ จะมีรายได้แต่ก็มีรายจ่ายใกล้เคียงกับรายได้ คงมีเงินเหลือบ้างตามสมควร ตามเอกสารทั้งสองฉบับนี้จำเลยต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายของตนเอง หากไม่มีเงินคงเหลือไว้ใช้จ่ายในการดำเนินงานบ้างกิจการของจำเลยก็ตั้งอยู่ไม่ได้ และรายได้นี้ตามเอกสารข้างต้นก็ไม่มีรายการแสดงว่านำไปแบ่งปันแก่ผู้ใดในฐานะผลกำไร หรือเงินปันผล ฉะนั้นเพียงแต่จำเลยมีกำไรจากการขายทรัพย์สินบ้างเล็กน้อยบางปี และมีรายได้มากกว่ารายจ่ายเพื่อให้กิจการของจำเลยดำรงอยู่ได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับหลักเกณฑ์ในการเรียกค่าบริการวิจัยตามเอกสารหมาย ล.๑ แล้วยังฟังไม่ได้ว่ากิจการของจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการแสดงกำไรในทางเศรษฐกิจ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้โจทก์
พิพากษายืน

Share