คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โดยไม่ได้ยกข้อที่ว่าผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบถึงเรื่องที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยขึ้นต่อสู้ และศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยถึง ในเรื่องการบอกกล่าวจึงไม่มีข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า จำเลยมีสิทธินำเงินไปชำระให้แก่ผู้เสียหายได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อจำเลยได้นำเงินตามเช็คไปชำระให้แก่ผู้เสียหายแล้วก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ย่อมมีผลให้คดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 5 วรรคท้าย จึงยังไม่เกิดขึ้น
วันออกเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 นั้น คือวันที่ลงในเช็ค วันที่เขียนหรือพิมพ์เช็คหาใช่วันที่ออกเช็คไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า.ในวันออกเช็คจำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และธนาคารได้ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้ว การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา3(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว
ในคดีซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกามีอำนาจใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ให้ลงโทษจำคุก
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗มาตรา ๕ วรรคท้าย บัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำผิดตามมาตรา ๓ ได้นำเงินตามเช็คไปชำระแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคาร เพื่อจ่ายเงินตามเช็คภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ผู้ทรงเช็คได้บอกกล่าวให้ผู้ออกเช็คได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ให้คดีเป็นอันเลิกกันตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น แต่ข้อเท็จจริงตามสำนวนได้ความว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คยังไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยผู้ออกเช็คทราบว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท ระยะเวลาจึงยังไม่เริ่มนับจำเลยจึงยังมีสิทธิที่จะนำเงินไปชำระให้แก่ผู้เสียหายได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดเมื่อจำเลยได้ชำระเงินตามเช็คให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ย่อมมีผลให้คดีเป็นอันเลิกกันตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ จำเลยให้การรับสารภาพ และจำเลยไม่ได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ ศาลชั้นต้นจึงไม่ได้วินิจฉัยถึงในข้อที่ว่าผู้เสียหายผู้ทรงเช็คได้บอกกล่าวให้จำเลยได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้วหรือไม่ ฉะนั้น ในเรื่องการบอกกล่าวจึงไม่มีข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ ที่จะนำมาปรับกับข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างอิงได้ ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงยังไม่เกิดขึ้น ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยออกเช็ควันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๒ แต่ลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๒ การลงวันที่ล่วงหน้าในเช็คเช่นนี้เป็นอันตกลงว่า จำเลยจะนำเงินมาชำระหนี้ตามเช็คให้ได้ภายในกำหนดเวลาที่ลงวันที่ล่วงหน้าไว้นั้น หากนำเงินมาชำระไม่ได้ก็เป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าวันออกเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้นคือวันที่ลงในเช็ค วันที่เขียนหรือพิมพ์เช็คหาใช่วันที่ออกเช็คไม่ ฉะนั้น วันออกเช็คในคดีนี้คือวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๒ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันดังกล่าวจำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้และธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้ว การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๓(๒) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ จำเลยจึงต้องมีความผิดดังโจทก์ฟ้อง
ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนดสองปี

Share