แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2518 การนับอายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 มิให้นับวันที่ 20 พฤษภาคม 2518 ซึ่งเป็นวันแรกรวมคำนวณไปด้วย เพราะมิได้มีการเริ่มอะไรในวันนั้น ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2518 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะครบ 1 ปี คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 เข้าหุ้นกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลดำเนินกิจการเหมืองแร่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นยามรักษาทรัพย์สินของเหมืองแร่ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย การที่จำเลยที่ 3 มอบอาวุธปืนให้จำเลยที่ 1 ไปใช้ในการอยู่ยามและจำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิงโจทก์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ยามเพื่อรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่อยู่ในเหมือง ถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ให้อำนาจศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดจึงเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ในโดยเฉพาะแล้ว จะนำกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวกับความรับผิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุขณะ ปฏิบัติหน้าที่มาใช้บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการทำเหมืองแร่จำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนดำเนินงานกับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีหน้าที่ทำกิจการและดูแลเหมืองแร่ในขณะปฏิบัติหน้าที่จำเลยที่ ๑ ได้ใช้ปืนยิงโจทก์โดยเจตนาฆ่าโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสตาขวาบอดเสียค่ารักษาพยาบาล ๑,๕๙๐ บาท ขาดรายได้ระหว่างรักษาตัว ๓,๖๐๐ บาท และขอค่าสินไหมทดแทนที่ตาพิการ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์กับพวกบุกรุกเข้าไปในเขตประทานบัตรของจำเลยที่ ๒ โดยมุ่งจะลักทรัพย์ จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดเพราะไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ กระทำไปเกี่ยวกับการป้องกันตัวและทรัพย์สิน โจทก์เสียหายไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑ ปีคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน ๕๔,๔๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๘๘ หรือไม่ จำเลยฎีกาว่าเหตุเกิดวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๘ โจทก์ต้องฟ้องภายในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นวันครบ ๑ ปี ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘ บัญญัติว่า “ถ้าระยะเวลานับเป็นวันก็ดีสัปดาห์ เดือนหรือปีก็ดีท่านมิได้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วยเว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเอง” ตามบทบัญญัติดังกล่าว การนับเวลาในคดีนี้ จึงนับวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นวันแรกคำนวณเข้าในอายุความด้วยไม่ได้ เพราะมิได้มีการเริ่มอะไรในวันนั้น ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๑๘ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะครบ ๑ ปี คดีของโจทก์ จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่เป็นยามรักษาทรัพย์สินของเหมืองแร่ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เข้าหุ้นส่วนกันดำเนินกิจการ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ด้วย การที่จำเลยที่ ๓ มอบอาวุธปืนให้จำเลยที่ ๑ ไปใช้ในการอยู่ยามเพื่อรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และการที่จำเลยที่ ๑ ใช้ปืนที่จำเลยที่ ๓ มอบไปยิงโจทก์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ยามเพื่อรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่อยู่ในเหมือง ถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้าง จำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๕
จำเลยทั้งสามฎีกาว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ระบุกำหนดไว้ชัดว่าจะต้องชดใช้กันเท่าไร ต้องนำกฎหมายใกล้เคียงคือกฎหมายแรงงานมาใช้ ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดอันเกิดจากมูลละเมิดไว้แล้ว ส่วนจะรับผิดเป็นจำนวนเท่าใดเป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำสืบ และมาตรา ๔๓๘ แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวก็ให้อำนาจศาลวินิจฉัยกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด จึงเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจะนำกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับความรับผิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่มาใช้บังคับไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน