คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นกำนัน ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการโครงการสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ฯ การที่จำเลยเบิกเงินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านนายอำเภอ เพื่อจ่ายแก่ผู้รับเหมาทำถนนในขณะที่ถนนยังไม่เสร็จ แต่เบิกมาเพื่อจะจ่ายให้ผู้รับเหมาทำงานต่อไปได้และจำเลยจ่ายเงินแก่ผู้รับเหมาไปแล้วนั้น แม้ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าทำตามคำแนะนำของนายอำเภอและไม่เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับโทษ แต่ก็แสดงว่าจำเลยกระทำไปโดยขาดเจตนาที่จะแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องถึงจำเลยคนอื่นซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วได้
เมื่อจำเลยรับเงินมาจ่ายให้ผู้รับเหมาแล้วได้ละเว้นไม่ดำเนินการให้ผู้รับเหมาทำงานต่อไปให้เสร็จตามสัญญา เป็นการทำให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้รับเหมาได้รับเงินมากกว่าที่ควรจะได้ จึงเป็นการกระทำโดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นกำนัน เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการดำเนินการตามโครงงานพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้งประจำตำบล มีจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบล จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นราษฎรผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นกรรมการ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการดำเนินการตามโครงการสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน ตามที่ได้รับอนุมัติจากทางราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่น ฯ พ.ศ.๒๕๑๘ โดยได้รับเงินจัดสรรจากรัฐบาลเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการนี้ ๕๐,๐๐๐ บาท และคณะกรรมการ ป.ช.ล.ต. ได้ยืมเงินทดรองจากผู้ว่าราชการจังหวัดมาดำเนินการขั้นแรก ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน โดยได้ร่วมกันทำหนังสือขอเบิกเงินที่ค้างอยู่ในการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ๔๐,๐๐๐ บาท ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านนายอำเภอ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน โดยได้ส่งหลักฐานเอกสารใบสำคัญการจ่ายเงินก่อสร้างถนนตามโครงการ ๕๐,๐๐๐ บาทแนบมาด้วย อันเป็นการแสดงว่าได้ดำเนินการสร้างถนนแล้วเสร็จตามโครงการ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะการดำเนินการก่อสร้างถนนตามโครงการยังไม่เสร็จ โดยเสร็จไปเพียงประมาณ ๓ ใน ๑๐ ส่วนเท่านั้น เป็นเหตุให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดหลงเชื่อว่างานก่อสร้างถนนได้แล้วเสร็จตามโครงการ จึงอนุมัติสั่งจ่ายเงินที่ค้างอยู่อีก ๔๐,๐๐๐ บาทให้จำเลยที่ ๑ กับพวกรับไป ทำให้นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐบาลและประชาชนได้รับความเสียหาย และจนบัดนี้จำเลยทั้งสามก็เพิกเฉยมิได้ดำเนินการก่อสร้างถนนในส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จตามโครงการแต่อย่างใด อันเป็นการร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐบาลและประชาชน เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๑๕๗, ๘๓
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และ ๑๕๗ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ไม่ผิดตามมาตรา ๑๕๗ คงมีความผิดตามมาตรา ๑๓๗
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง ได้จัดสรรเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ เฉพาะในท้องที่เกิดเหตุมีโครงการสร้างถนนแยกเข้าหมู่บ้าน โดยทำเป็นถนนดินลูกรัง ระยะทางประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นกำนันได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว มีจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบลและจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นราษฎรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการดำเนินงานได้เบิกเงินล่วงหน้าจากทางราชการไป ๑๐,๐๐๐ บาทเพื่อทดรองจ่ายเป็นค่าแรงงานของคนงาน ต่อมาจำเลยทั้งสามได้ยื่นเรื่องราวขอเบิกเงินค่าก่อสร้างถนนตามโครงการ ทางราชการได้จ่ายเงินให้ไป โดยหักชดใช้เงินยืมทดรองจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท เหลือเงินที่จ่ายให้ไป ๔๐,๐๐๐ บาท
ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ นั้น ได้ความว่า ในขณะที่จำเลยขอเบิกเงินที่เหลืออีก ๔๐,๐๐๐ บาทนั้น งานสร้างถนนตามโครงการยังไม่เสร็จ ผู้รับเหมาหยุดงานเพราะไม่มีเงินที่จะทำต่อไป งานตามโครงการจะต้องทำให้เสร็จภายในกำหนด มิฉะนั้นเงินที่จะต้องจ่ายตามโครงการจะถูกส่งคืนคลัง ซึ่งจะเป็นเหตุให้งานค้าง ในขณะนั้นใกล้จะหมดเวลาตามโครงการแล้ว จำเลยขอเบิกเงินมาก็เพื่อจะจ่ายให้ผู้รับเหมาได้ทำงานต่อไป และได้จ่ายให้ผู้รับเหมาแล้ว แม้ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าทำตามคำแนะนำของนายอำเภอจะไม่เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๐ แต่ก็เป็นข้อที่แสดงว่า จำเลยกระทำการดังกล่าวไปโดยขาดเจตนาที่จะแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ เหตุดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ และ ๒๒๕
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ จ่ายเงินค่าจ้างที่เหลือให้ผู้รับเหมาแล้ว จำเลยที่๑ มิได้ดำเนินการให้ผู้รับเหมาทำงานต่อไปให้เสร็จตามสัญญา เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้ารที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า เมื่อรับเงินแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้จ่ายเงินให้ผู้รับเหมาไปทั้งหมด จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับประโยชน์อะไรด้วยนั้น เห็นว่า คำว่า “โดยทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๑) นั้น หากว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็เป็นการกระทำโดยทุจริตเช่นเดียวกัน คดีนี้การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้ผู้รับเหมาได้รับเงินมากกว่าที่ควรจะได้ จึงเป็นการกระทำโดยทุจริต
จำเลยที่ ๑ เป็นกำนัน เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับแต่งตั้งตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นประธานกรรมการโครงการสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน มีหน้าที่ดำเนินการตามโครงการให้เสร็จเรียบร้อย จำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าพนักงาน แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีและจำนวนเงินที่จ่ายไปตามโครงการแล้ว เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยที่ ๑ หนักเกินไปสมควรแก้เสียใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share