คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกจับในข้อหาชิงทรัพย์ ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 15 ปีเศษ อยู่ในอำนาจศาลเด็กและเยาวชนกลางพิจารณาพิพากษา พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวจำเลยไว้ 30 วัน แล้วทำบันทึกส่งตัวจำเลยมายังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางและขอผัดฟ้องมีกำหนด + วัน ต่อจากนั้นไม่ได้ขอผัดฟ้องอีก จนศาลมีคำสั่งปล่อยจำเลย ดังนี้ เป็นการพ้นกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 ซึ่งมาตรา 24 จัตวา บัญญัติห้ามให้พนักงานอัยการฟ้องคดีดังกล่าวเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ ข้อห้ามฟ้องนี้ห้ามฟ้องต่อศาลทุกศาลและมีอยู่ตลอดไป เมื่อจำเลยมีอายุเกินกำหนดที่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางแล้ว ข้อห้ามดังกล่าวยังคงไม่หมดไป จะนำคดีที่ถูกห้ามฟ้องนั้นมาฟ้องต่อศาลอาญาอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาโดยบรรยายฟ้องว่า (ขณะฟ้อง) จำเลยอายุ ๑๘ ปี เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๘ (ขณะจำเลยอายุ ๑๕ ปี) จำเลยได้ทำการชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำของนางสาววัชฎา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะจำเลยกระทำผิดอายุไม่เกิน ๑๖ ปีบริบูรณ์อยู่ในอำนาจศาลคดีเด็และเยาวชน พนักงานสอบสวนไม่ขอผัดฟ้องต่อ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งปล่อยจำเลย โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลอาญา โดยไม่รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องให้จำคุก ๗ ปี
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิด ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยถูกจับในข้อหาฐานชิงทรัพย์นางสาววัชฎาขณะจำเลยอายุ ๑๕ ปีเศษ มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนควบคุมตัวจำเลยไว้ ๓๐ วัน แล้วทำบันทึกส่งตัวไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง และยื่นคำร้องต่อศาลขอผัดฟ้องมีกำหนด ๑๕ วัน ต่อจากนั้นไม่ได้ขอผัดฟ้องอีก ศาลมีคำสั่งปล่อยจำเลย พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อไปแล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการและจับจำเลยมาฟ้องข้อหาฐานความผิดดังกล่าวต่อศาลอาญาขณะจำเลยมีอายุ ๑๗ ปีเศษ การที่พนักงานสอบสวนมิได้ขอผัดฟ้องอีกจนศาลมีคำสั่งปล่อยจำเลยนั้น ฟังได้ว่าเป็นการพ้นระยะเวลาผัดฟ้องจำเลยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.๒๔๙๔ แก้ไข (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๖ มาตรา ๘ ซึ่งมาตรา ๒๔ จัตวา บัญญัติห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ ทวิ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการความในบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าห้ามฟ้องต่อศาลใด จึงมีความหมายว่าคดีดังกล่าวห้ามฟ้องต่อศาลทุกศาล ในกรณีที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยนั้นจะต้องตีความตามตัวบทกฎหมายโดยเคร่งครัด ข้อห้ามนี้จึงมีอยู่ตลอดไป แม้จำเลยจะมีอายุเกินกำหนดที่จะอยู่ในอำนาจศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางก็ตาม ข้อห้ามดังกล่าวยังคงไม่หมดไปโจทก์จึงนำคดีที่ถูกห้ามฟ้องต่อศาลอาญาไม่ได้ และคดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการให้ฟ้องคดีนี้ในขณะที่จำเลยมีอายุอยู่ในอำนาจศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น
พิพากษายืน

Share