คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยค้ำจุนไว้ ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยตรงในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยโดยไม่ต้องฟ้องผู้เอาประกันภัย
เมื่อลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยได้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยด้วยความประมาทก่อให้เกิดความเสียหายซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ผู้ต้องเสียหายโดยตรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887

ย่อยาว

ในสำนวนแรกโจทก์ที่ ๑ ในฐานะเจ้าของรถยนต์บรรทุก ล.ย. ๐๐๗๗๖ และโจทก์ที่ ๒ ในฐานะผู้เช่าซื้อและเจ้าของข้าวสารกับผ้าใบคลุมรถบนรถยนต์ดังกล่าวฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ เจ้าของรถยนต์บรรทุก ปอ. น.ม. ๐๘๑๙๙ และนายสว่างลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ เจ้าของรถยนต์รถบรรทุกน้ำมัน น.ม. ๐๒๒๙๖ ต่างขับรถบรรทุกดังกล่าวสวนทางกันด้วยความประมาทและชนกัน แล้วรถยนต์คันหลังเสียหลักพุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ ๔ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ ๓ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การปฏิเสธความรับผิดหลายประการ
จำเลยที่ ๔ ให้การต่อสู้หลายประการและว่า จำเลยที่ ๔ มิได้รับประกันภัยรถยนต์ น.ม. ๐๒๒๙๖ จากจำเลยที่ ๓ แต่รับประกันภัยค้ำจุนโดยบุคคลอื่นเป็นผู้เอาประกัน เมื่อผู้เอาประกันไม่ต้องรับผิดจำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดด้วย
ในสำนวนหลังโจทก์ในฐานะเจ้าของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน น.ม. ๐๒๒๙๖ ฟ้องว่านายบุญลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ขับรถบรรทุก ปอ. น.ม. ๐๘๑๙๙ ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถของโจทก์ซึ่งวิ่งสวนทางมา ทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหลักเครื่องยนต์ดับขวางถนน นายเทียบลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และ ที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าของรถบรรทุกข้าวสาร ล.ย. ๐๐๗๗๖ ขับรถดังกล่าวโดยประมาทเข้าชนรถบรรทุกของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีหลายประการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท ร.ส.ท. ประกันภัย จำกัด จำเลยที่ ๔ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ (บริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานอุตสาหกรรมสินธุพันธ์) ยกฟ้องที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ สำนวนแรก กับให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนหลัง
โจทก์สำนวนหลังและจำเลยที่ ๔ สำนวนแรกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ สำนวนหลังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์สำนวนหลัง
โจทก์และจำเลยที่ ๑ สำนวนหลังฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นายสว่างขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถบรรทุกปอในเส้นทางเดินรถของรถยนต์บรรทุกปอ รถยนต์บรรทุกปอไม่ได้ประมาท เหตุที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาแทบจะทันทีทันใดและอยู่ในทางเดินรถของรถยนต์บรรทุกข้าวสาร รถยนต์บรรทุกข้าวสารย่อมไม่อาจหยุดรถได้ทันท่วงที กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของรถบรรทุกข้าวสาร แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้ศาลชั้นต้นจะฟังว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยและพิพากษายกฟ้องไม่ให้จำเลยที่ ๓ รับผิดก็ตาม แต่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ ๔ โดยตรงในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ม.๐๒๒๙๖ ได้โดยไม่ต้องฟ้องผู้เอาประกันภัย และในระหว่างดำเนินคดีในศาลชั้นต้นโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ก็ได้ขอให้ศาลเรียกโจทก์ที่ ๓ ผู้เอาประกันภัยเข้ามาเป็นจำเลยร่วมอยู่แล้ว แต่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องเสียเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรผู้เอาประกันภัยก้ได้เข้ามาในคดีอยู่แล้วในฐานะโจทก์ที่ ๓ จำเลยที่ ๔ ก็ให้การนำสืบรับอยู่ว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน น.ม. ๐๒๒๙๖ ของโจทก์ที่ ๓ ผู้เอาประกันภัย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน น.ม.๐๒๒๙๖ ของโจทก์ที่ ๓ เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายซึ่งโจทก์ที่ ๓ ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ผู้ต้องเสียหายโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๗
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๓ (โจทก์สำนวนหลัง) ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ สำนวนหลังตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share