แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทนั้น หมายถึงกรณีที่ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิ แต่มีเหตุที่ผู้เสนอคดีจำต้องใช้สิทธิทางศาล
หากเจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมรับจดทะเบียนการโอนที่ดินเพราะพินัยกรรมของผู้ตายสั่งห้ามจำหน่าย เท่ากับได้มีการโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว ผู้ร้องชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องอันเป็นคดีมีข้อพิพาท หาใช่เสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขออันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ไม่
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ซึ่งพินัยกรรมมีข้อความว่าห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์มรดก ผู้ร้องเสนอขายที่ดินทรัพย์มรดกแก่ทายาทตกลงราคาแล้วเพื่อเอาเงินมาแบ่งปันแก่ทายาท แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมแก้ทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ อ้างว่าพินัยกรรมสั่งห้ามมิให้เอาไปจำหน่าย ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙ เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หามีผลตามกฎหมายไม่ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าพินัยกรรมฉบับดังกล่าวไม่มีผลตามกฎหมาย๋
ศาลแพ่งงดไต่สวนและมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว ผู้ร้องฎีกาว่าตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมรับจดทะเบียนการโอน เพราะพินัยกรรมของผู้ตายสั่งห้ามจำหน่าย เท่ากับได้มีการโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ แล้ว ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาล ศาลฎีกาเห็นว่าหากมีผู้โต้แย้งสิทธิของผู้ร้องดังกล่าว ผู้ร้องก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องอันเป็นคดีมีข้อพิพาท หาใช่เสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขออันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทดังเช่นที่ผู้ร้องดำเนินการมาแล้วไม่ กรณีที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทนั้นหมายถึงกรณีที่ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิ แต่มีเหตุที่ผู้เสนอคดีจำต้องใช้สิทธิทางศาล กรณีของผู้ร้องหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งผู้ร้องก็อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่ชอบที่จะเสนอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๒๗/๒๔๙๒ ที่ผู้ร้องอ้างสนับสนุนข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้
พิพากษายืน.