แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าไปแล้ว ต่อมาจำเลยไปตกลงกับธนาคารว่า เช็คของจำเลยต้องประทับตราด้วยจึงจะจ่ายเงินได้ เมื่อเช็คที่จำเลยออกไปก่อนที่จะมีการตกลงกับธนาคารดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้ประทับตราผู้สั่งจ่าย ทั้งจำเลยก็สั่งห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็คประกอบกับจำเลยมีหนี้ตามเช็คเป็นยอดเงินอีกจำนวนมาก ซึ่งธนาคารไม่ยอมผ่านเช็คให้พฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต ข้อที่โจทก์มิได้ให้จำเลยประทับตราก่อน จึงไม่เป็นข้ออ้างตามกฎหมายที่จะให้จำเลยพ้นความรับผิด
โจทก์เป็นผู้ทรงเช็ค ครั้นเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คเข้าบัญชี เพื่อเรียกเก็บเงิน เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คไม่ว่าด้วยเหตุใด โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้
จำเลยออกเช็คสองฉบับชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับ เป็นความผิดสองกระทง
ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษรวมกันมาเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ศาลฎีกาเรียงกระทงลงโทษ แต่กำหนดโทษให้เป็นไปตามเดิมได้แม้โจทก์จะมิได้ฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๙ เวลากลางวัน จำเลยบังอาจลอกเช็คธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาคลองสาน รวม ๒ ฉบับ คือเช็คเลขที่ ๖๖๓๘๕๙ สั่งจ่ายเงิน ๕๖,๐๐๐ บาท ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ กับเช็คเลขที่ ๖๖๓๘๕๐ สั่งจ่ายเงิน ๖๕,๐๐๐ บาท ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ชำระหนี้แกผู้มีชื่อ ต่อมาผู้มีชื่อนำเช็คทั้งสองฉบับแลกเงินสดจากโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เช็คถึงกำหนดวันสั่งจ่าย โจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชี เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารเจ้าของเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้โดยจำเลยออกเช็คโดจเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ระงับการจ่ายเงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริต เหตุเกิดที่แขวงบุคคโล เขตคลองสาน และที่แขวงกล้วยน้ำไท เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ จำคุกจำเลย ๑ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อกฎหมายเฉพาะข้อ ๓, ๔ และ ๕ นอกนั้นเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ไม่รับฎีกาจำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบ และที่ศาลล่างฟังมาเป็นที่ยุติว่า โจทก์กับจำเลยไม่รู้จักกัน จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับชำระหนี้ให้แก่นายฮ้งฮั้วเมื่อปลายเดือนธันวาคม ๒๕๑๘ โดยลงวันที่ล่วงหน้าในเช็คประมาณ ๑ เดือน ต่อมาเมื่อปลายเดือนมกราคม ๒๕๑๙ นายฮ้งฮั้วนำเช็คทั้งสองฉบับไปแลกเป็นเงินสดจากโจทก์ โดยรับเงินน้อยกว่าจำนวนที่ระบุในเช็ค ส่วนจำเลยเปิดบัญชีไว้ต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาคลองสาน และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารภายในวงเงินไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๑๙ จำเลยไปตกลงกับธนาคารขอเพิ่มตราขึ้นมาเวลาจำเลยลงลายมือชื่อในเช็ค ซึ่งเป็นการขอเพิ่มภายหลังที่ได้ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปแล้วกับจำเลยได้สั่งธนาคารห้ามจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับนี้ด้วย ก่อนเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดนายฮ้งฮั้วโทรศัพท์บอกโจทก์ว่าให้นำเช็คไปขึ้นเงินช้ากว่ากำหนดประมาณ ๑ สัปดาห์ ครบกำหนด ๑ สัปดาห์แล้วโจทก์นำเช็คสองฉบับไปเข้าบัญชีต่อธนาคาร ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ โดยให้เหตุผลในใบคืนเช็คว่า “โปรดประทับตราผู้สั่งจ่าย” โจทก์มิได้นำเช็คไปให้จำเลยประทับตราเพราะไม่รู้จักจำเลยเพียงแต่บอกให้นายฮ้งฮั้วทราบ นายฮ้งฮั้วถามจำเลย จำเลยไม่ยอมชำระเงินให้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ จำเลยเป็นลูกหนี้ธนาคาร ๒๒๒,๒๓๘ บาท ๓๐ สตางค์ แม้เช็คทั้งสองฉบับจะประทับตราของผู้สั่งจ่าย ธนาคารก็ไม่จ่ายเงินให้ จำเลยถูกฟ้องคดีอาญาฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ครวม ๔-๕ รายเป็นเงินประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท มีเช็คที่จำเลยออกไปแล้วและไม่ผ่านธนาคารประมาณหนึ่งล้านกว่าบาท มีเจ้าหนี้ประมาณสิบกว่าราย
จำเลยฎีกาประการแรกว่า นายฮ้งฮั้วได้รับเงินจากโจทก์น้อยกว่าจำนวนเงินในเช็ค คือคิดหักเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๒๔ ต่อปี อันเป็นการคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย เช็คสองฉบับดังกล่าวถือว่าไม่สมบูรณ์ตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่มีความผิด ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์จะรับซื้อเช็คจากนายฮ้งฮั้วในราคาเท่าใด ย่อมเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายฮ้งฮั้วไม่เกี่ยวกับจำเลยอันจะเป็นผลให้กลายเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะดังจำเลยฎีกา
จำเลยฎีกาประการที่สองว่า เมื่อโจทก์ไม่จัดให้จำเลยประทับตราในเช็คจำเลยก็ไม่มีความผิด ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์กับจำเลยไม่รู้จักกัน ไม่อยู่ในวิสัยที่จะนำเช็คไปให้จำเลยประทับตราได้ การประทับตรานั้นจำเลยไปติดต่อไว้ กับธนาคารภายหลังที่ได้ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้นายฮ้งฮั้ว และนายฮ้งฮั้วได้โอนเช็คให้โจทก์ไปแล้ว ทั้งจำเลยได้สั่งธนาคารห้ามจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับนี้ด้วย ประกอบกับจำเลยมีหนี้ตามเช็คอีกจำนวนมาก ซึ่งธนาคารไม่ยอมผ่านเช็คให้จำเลย ดังนี้ แม้โจทก์จะนำเช็คไปให้จำเลยประทับตรา ธนาคารก็ต้องปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คอยู่ดี พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต ฉะนั้น ข้อกฎหมายของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่ขัดให้จำเลยประทับตราในเช็คจึงมิใช่ข้ออ้างตามกฎหมาย ที่จะให้จำเลยพ้นจากความรับผิด
จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า เมื่อเช็คยังไม่มีการประทับตราโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องอำนาจฟ้องนี้ เมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค ไม่ว่าจะสลักใบคืนเช็คในข้อใดหรือเหตุผลใด โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้
ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกระทง ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษรวมกันมา ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ แม้โจทก์จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์