คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 252/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. 39/2517 ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2519 นั้น เมื่อได้สั่งให้ทรัพย์สินของ ณ และภริยาที่ถูกอายัดหรือยึดไว้แล้วทั้งหมดตกเป็นของรัฐตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทก็ต้องถือว่าได้โอนมาเป็นของรัฐแล้วในทันทีที่มีคำสั่ง และคำสั่งดังกล่าวระบุว่าการจะคืน ทรัพย์สินใดซึ่ง ณ และภริยา หรือบุคคลใดได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ จะต้องพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเสียก่อน หากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นในการปฏิบัติตามคำสั่ง ก็ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี คำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ได้บัญญัติวิธีการที่จะชี้ขาดข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นจากคำสั่งไว้โดยเฉพาะและเป็นคำสั่งที่ออกมาตามอำนาจแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2519 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่กำหนดเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยในขณะนั้น ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ซึ่งตราขึ้นภายหลังก็ยังบัญญัติให้มีผลใช้บังคับต่อไป ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการได้ชี้ขาดไม่คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ ๒ คัน โดยซื้อมาจาก ณ.ต่อมาได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้อายัดทรัพย์สินของ ณ. และภริยา เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันถูกอายัดไว้ด้วย และหลังจากนั้นได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ทรัพย์สินที่อายัดหรือยึดไว้ตกเป็นของรัฐโดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านต่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ ซึ่งเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แต่คณะกรรมการชี้ขาดไม่คืนรถยนต์ให้แก่โจทก์ โจทก์เห็นว่าการวินิจฉัยของคณะกรรมการไม่ชอบด้วยเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย อันถือได้ว่าคณะกรรมการปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ และให้จำเลยที่ ๑ คืนรถยนต์แก่โจทก์
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. ๓๙/๒๕๑๗ ให้ถือว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการเป็นที่สุด โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอน และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเก้าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท การโอนทะเบียนเป็นไปโดยมิชอบ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ สั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ ย่อมถึงที่สุดตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. ๓๙/๒๕๑๗ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอน จำเลยที่ ๙ เป็นเลขานุการคณะกรรมการ ไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งที่โจทก์ขอให้เพิกถอน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเก้า พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. ๓๙/๒๕๑๗ ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช ๒๕๑๕ นั้น เมื่อได้สั่งให้ทรัพย์สินของ ณ. และภริยาที่ถูกอายัดหรือยึดไว้แล้วทั้งหมดตกเป็นของรัฐตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง กรรมสิทธิในรถยนต์พิพาทก็ต้องถือว่าได้โอนมาเป็นของรัฐแล้วในทันทีที่มีคำสั่ง ส่วนทรัพย์สินใด ซึ่ง ณ. และภริยาหรือผู้ใดได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ ซึ่งรัฐอาจจะคืนให้ตามนัยแห่งคำสั่งข้อ ๕ นั้น จะต้องมีการพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการเสียก่อน และคำสั่งข้อ ๑๐ระบุว่าหากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นในการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าคำสั่งฉบับนี้ได้บัญญัติวิธีการที่จะชี้ขาดข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นจากคำสั่งนี้ไว้โดยเฉพาะ และเป็นคำสั่งที่ออกมาตามอำนาจแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่กำหนดเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยในขณะนั้น ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ มาตรา ๒๓๘ ซึ่งตราขึ้นภายหลังก็บัญญัติยืนยันฐานะความเป็นกฎหมายของคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวที่ได้สั่งการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช ๒๕๑๕ ให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ต่อไป การยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้บังคับตามข้ออ้างในฟ้อง ทั้งฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าคณะกรรมการได้ปฏิบัติมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใดเลย ฉะนั้น การที่ศาลล่างสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์จึงเป็นการถูกต้อง
พิพากษายืน

Share