แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องนายจ้างฐานผิดสัญญาจ้างและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยลูกจ้างและสหภาพแรงงานมิได้ตกลง ยินยอม ขอให้บังคับนายจ้างจ่ายค่าจ้างที่ยังจ่ายขาดแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น เป็นกรณีที่ลูกจ้างแต่ ละคนมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะได้รับหรือจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และตามสัญญาจ้างกับนายจ้างโดยตรง หากลูกจ้างคนใดจะฟ้องขอให้บังคับนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายและสัญญาจ้างแรงงานก็จะต้องเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลโดยจะดำเนินคดีด้วยตนเองหรือแต่งตั้งผู้แทนหรือทนายความให้ดำเนินคดีแทน หรือจะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีแทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 36 ก็ได้ เมื่อลูกจ้างมิได้เป็นโจทก์ฟ้องนายจ้างเองและมิได้มอบอำนาจให้สหภาพแรงงานดำเนินคดีแทน สหภาพแรงงานจึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 8 และมาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบแก่สมาชิกของโจทก์ ทุกคนตามบัญชีรายละเอียดท้ายฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี คำนวณจากยอดค่าจ้างของสมาชิกของโจทก์แต่ละปี เริ่มคิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมของปีถัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่สมาชิกของโจทก์ หากในระหว่างฟ้องจำเลยยังคงสั่งหยุดงานจ่ายค่าจ้างเพียงร้อยละห้าสิบก็ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่สมาชิกของโจทก์ที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี จนกว่าจะปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือชำระเสร็จกับให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาครที่ ๗/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๒
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่สมาชิกของโจทก์ตามรายชื่อและจำนวนเงินดังที่ปรากฏในบัญชีท้ายคำพิพากษากับให้รับผิดเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี โดยคิดนับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ของปีถัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาซึ่งสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเบื้องแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยสั่งให้สมาชิกของโจทก์หมุนเวียนหยุดงานเป็นช่วง ๆ โดยอ้างเหตุจำเป็นเนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และจ่ายค่าจ้างให้สมาชิกของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยระหว่างหยุดงานเพียงร้อยละห้าสิบของอัตราค่าจ้างปกติ การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนพระราช-บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ เป็นการผิดสัญญาจ้างและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยสมาชิกของโจทก์และโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบแก่สมาชิกของโจทก์ เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพแห่งข้ออ้าง ข้อหา และคำขอบังคับในคำฟ้องดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่สมาชิกของโจทก์ แต่ละคนมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะได้รับหรือจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และตามสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของสมาชิกของโจทก์โดยตรง ซึ่งหากสมาชิกของโจทก์คนใดประสงค์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายและสัญญาจ้างแรงงานดังเช่นคดีนี้ สมาชิกของโจทก์คนนั้น ก็จะต้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาล โดยจะดำเนินคดีด้วยตนเอง หรือจะแต่งตั้งผู้แทนหรือทนายความเพื่อดำเนินคดีแทน หรือจะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีแทนตามพระราช-บัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๖ ก็ได้ คดีนี้สมาชิกของโจทก์มิได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยและมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีแทน แต่โจทก์ในฐานะสภาพแรงงานเป็นผู้ฟ้องจำเลยโดยมิได้มีข้อโต้แย้งใด ๆ เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ และมาตรา ๓๑ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕), ๒๔๖ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ เมื่อวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามที่จำเลยอุทธรณ์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง