แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530 ข้อ 13 กำหนดให้การปฏิบัติงานภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการ และข้อ 21 ให้คณะกรรมการหรือผู้ที่ คณะกรรมการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจก่อหนี้ผูกพันและอนุมัติการจ่ายเงินกองทุนสวัสดิการ แต่ระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการเท่านั้น ไม่มีผลทำให้ คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตามีสภาพเป็นนิติบุคคล ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามกู้ยืมเงินจากโจทก์ในนามและในฐานะคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงาน การประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา จึงไม่อาจทำสัญญากู้ยืมเงินแทนกองทุนดังกล่าว จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงิน และได้รับต้นเงินกู้ไปจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว และ แม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530 ข้อ 13 จะกำหนดให้การปฏิบัติงานสวัสดิการภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ให้ถือเป็นการปฏิบัติราชการก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินตามสัญญากู้ 85,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,500 บาท กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 หรือไม่ คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐาน ในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนในเขตอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และจำเลยทั้งสามได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการกองทุนผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ตุลาคม 2537 จำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการกองทุนดังกล่าวได้กู้เงินและได้รับต้นเงินไปจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 โจทก์ได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ตลอดมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2540 ต่อจากนั้นไม่ได้รับดอกเบี้ยอีกเลย คณะกรรมการกองทุนผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตาไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เห็นว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530 เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 13 กำหนดให้การปฏิบัติงานภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการ และข้อ 21 ให้คณะกรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจก่อหนี้ผูกพันและอนุมัติการจ่ายเงินกองทุน สวัสดิการ จำเลยทั้งสามกู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ในนามและในฐานะคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตาก็ตาม แต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการเท่านั้น ไม่มีผลทำให้คณะกรรมการกองทุน สวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตามีสภาพเป็นนิติบุคคล ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจ ทำสัญญากู้ยืมเงินแทนกองทุนดังกล่าว จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 และได้รับต้นเงินกู้ไปจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว แม้ระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530 เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 13 จะกำหนดให้การปฏิบัติงานสวัสดิการภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ให้ถือเป็นการปฏิบัติราชการก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติความรับผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง (15 กรกฎาคม 2541) เป็นต้นไป นอกจากที่ แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.