แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 (6) แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 คือบุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางตามมาตรา 1349 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับทางจำเป็นโดยเฉพาะ ไม่รวมถึงผู้ได้สิทธิในการใช้ทางเป็นภาระจำยอมโดยประการอื่น และเมื่อมาตรา 29 บัญญัติถึงทรัพยสิทธิอย่างอื่นเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนไว้แล้วซึ่งทางภาระจำยอมในคดีนี้เป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติที่มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจนำมาตรา 18 (6) มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งได้ ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ได้สิทธิในภาระจำยอมเหนือที่ดินแปลงอื่นโดยทางอื่นนอกจากบทบัญญัติมาตรา 18 (6) จึงต้องบังคับตามมาตรา 29
มาตรา 16 และมาตรา 29 กำหนดให้ผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิจะต้องมาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และระหว่างเวลา 60 วันนั้น ถ้าผู้รับประโยชน์จาก ทรัพยสิทธิมาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนและตกลงกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นได้จึงจะจ่ายเงินค่าทดแทนให้ตามที่คู่กรณีตกลงกัน หากคู่กรณีตกลงกันไม่ได้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ จะต้องนำเงินค่าทดแทนนั้นไปวางทรัพย์ตามมาตรา 31 แต่ในกรณีผู้รับประโยชน์จาก ทรัพยสิทธิมิได้ขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลา ก็ไม่มีกรณีที่คู่กรณีจะตกลงกัน เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ก็จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบ มิใช่ว่าคู่กรณีจะต้องตกลงกันก่อนจึงจะมารับเงินจำนวนดังกล่าวได้ จำเลยจึงมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทน เมื่อจำเลยนำเงินค่าทดแทนไปวางทรัพย์ ณ สำนักงานออมสิน โจทก์จึงชอบที่จะได้รับเงินดอกเบี้ยจากการวางทรัพย์นั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยดำเนินการถอนชื่อเจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย ที่มีชื่อร่วมกับโจทก์ในการที่จำเลยนำเงินค่าทดแทนไปฝากไว้ ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ให้เหลือโจทก์แต่เพียงผู้เดียวเป็นเจ้าของบัญชี และให้จำเลยชำระเป็นดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยนำเงินไปฝากธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จนกว่าจำเลยจะถอนชื่อเจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย ออกจากบัญชีเงินฝาก
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนเงื่อนไขการวางเงินค่าทดแทนเฉพาะส่วนที่เป็นเงินค่าทดแทนที่ดิน จำนวน 1,750,000 บาท ซึ่งจำเลยนำไปฝากธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ในนามของโจทก์ร่วมกับเจ้าของสามยทรัพย์ ให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 1,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น เนื่องจากเงินฝากจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันที่จำเลยฝากเงินเป็นต้นไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสาโรจน์ เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6027 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) เนื้อที่ 50 ตารางวา ที่ดินของโจทก์จดทะเบียนเป็นภาระจำยอมเรื่องทางเดินทั้งแปลงแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 3224, 18056, 176464 และ 176465 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยโจทก์ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์แปลงละ 5,000 บาท ต่อมามีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินสามยทรัพย์ดังกล่าวออกเป็นที่ดินแปลงย่อยอีกจำนวน 45 แปลง ที่ดินโฉนดเลขที่ 6027 เนื้อที่ 38 ตารางวา อยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2533 เพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนสายรามอินทรา – อาจณรงค์ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 13 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้ประกาศกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนของที่ดินโฉนดเลขที่ 6027 เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้โจทก์และเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าวภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และปิดประกาศแจ้งให้เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย มารับเงินค่าทดแทน โจทก์ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนภายในเวลาที่กำหนดไว้ แต่เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย ไม่ได้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนภายในเวลาที่กำหนด จำเลยไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์แต่นำเงินค่าทดแทนไปวางทรัพย์ไว้โดยการฝากไว้ ณ ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ในนามของโจทก์และเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ 45 ราย เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้โจทก์และเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ 45 ราย ทราบแล้ว โจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 1,750,000 บาท ซึ่งจำเลยนำไปฝากธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ในนามของโจทก์เจ้าของภารยทรัพย์ร่วมกับเจ้าของสามยทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 18 (6) แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ระบุว่าบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน หมายถึงบุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางตามมาตรา 1349 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับทางจำเป็นโดยเฉพาะหาได้หมายความรวมถึงผู้ได้สิทธิในการใช้ทางเป็นภาระจำยอมโดยประการอื่นดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ และเมื่อมาตรา 29 บัญญัติถึงทรัพยสิทธิอย่างอื่นเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนไว้แล้วซึ่งทางภาระจำยอมในคดีนี้เป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติที่มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจนำมาตรา 18 (6) มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ตามมาตรา 4 แห่ง ป.พ.พ. ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ได้สิทธิในภาระจำยอมเหนือที่ดินแปลงอื่นโดยทางอื่นนอกจากบทบัญญัติมาตรา 18 (6) จึงต้องบังคับตามมาตรา 29 คือต้องถือว่าเจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย เป็นผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิในที่นี้ก็คือทางการะจำยอมเหนือที่ดินของโจทก์ที่อยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนตามมาตรา 29
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อจำเลยได้แจ้งต่อเจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย ให้มารับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นภายใน 60 วันนับแต่วันรับแจ้ง แต่เจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย มิได้มาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนดังกล่าว จำเลยชอบที่จะนำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปวางทรัพย์ไว้เพื่อประโยชน์แก่โจทก์เจ้าของภารยทรัพย์และเจ้าของสามยทรัพยทั้ง 45 ราย นั้น หรือไม่ เห็นว่า ในมาตรา 16 และมาตรา 29 กำหนดให้ผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิจะต้องมาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งตามมาตรา 29 บัญญัติต่อไปว่าในระหว่างระยะเวลา 60 วันนั้นยังมิให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์ นั้น เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงกันได้แล้ว ซึ่งหมายความว่าในระหว่างเวลา 60 วันนั้น ถ้าผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิมาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนและตกลงกัน เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นได้จึงจะจ่ายเงินค่าทดแทนให้ตามที่คู่กรณีตกลงกัน หากคู่กรณีตกลงกันไม่ได้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ จะต้องนำเงินค่าทดแทนนั้นไปวางทรัพย์ตามมาตรา 31 แต่ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวมิได้ขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลา 60 วัน ก็ไม่มีกรณีที่คู่กรณีจะตกลงกัน เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หาได้หมายความว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกับผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวจะต้องตกลงกันก่อนจึงจะมารับเงินจำนวนดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า จำเลยได้แจ้งให้เจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย มาขอรับชดใช้เงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนภายใน 60 วันแล้ว แต่เจ้าของสามยทรัพย์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวมิได้มาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเช่นนี้ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น หาชอบที่จะนำเงินค่าทดแทนไปวางทรัพย์ไว้ตามบทบัญญัติมาตรา 31 ไม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.