แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ทางด้านโรงแรมย่อมจะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก แม้ในการยื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาวางศาลเป็นค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200,000 บาท กับค่าฤชาธรรมเนียม ที่จะต้องใช้แทนโจทก์อีก 250,970 บาท แต่จำนวนดังกล่าวไม่น่าจะถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มากนักสำหรับจำเลยที่ 1 ทั้งก่อนจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 5 นั้น ศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งอนุญาตขยาย ระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 มาแล้วถึง 4 ครั้ง จำเลยที่ 1 จึงมีเวลาจัดหาเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลเป็น เวลานานถึง 3 เดือนเศษ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าช่วงเวลานั้น จำเลยที่ 1 ยังคงประกอบธุรกิจการโรงแรมอยู่จึงน่าจะมีรายได้จากธุรกิจดังกล่าวด้วย ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ขวนขวายก็น่าเชื่อว่าสามารถจัดหาค่าธรรมเนียมมาวางศาลโดยไม่จำต้องรอให้ลูกค้าต่างประเทศโอนเงินมาตามที่อ้าง พฤติการณ์น่าจะเป็นข้ออ้างเพื่อประวิงคดีให้ล่าช้าเท่านั้น ถือไม่ได้ว่า มีพฤติการณ์พิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ในอันที่จะให้ศาลสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ได้อีก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาจ้างทำของจำนวน 63,991,485.20 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 62,612.521.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่า จะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์รวม 5 ครั้ง โดยในวันครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ในครั้งที่ 4 คือวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 นั้น จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลา ยื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 5 อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถที่จะหาเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลได้ทัน จึงต้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 7 วัน นับแต่วันครบกำหนด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 5 ออกไปได้อีก 7 วัน ตามที่ขอ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างงานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโรงแรม เอ็ม. พี. โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท และอาคารสตาฟเฮาส์โครงการโรงแรมแคลเรียน เอ็ม. พี. รีสอร์ท มีมูลค่ารวมกันเป็นเงินจำนวนมากถึง 276,083,000 บาท แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ทางด้านโรงแรมย่อมจะต้องมีเงินทุนตหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก แม้ในการยื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาวางศาลเป็นค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200,000 บาท กับค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยที่ 1 จะต้องใช้แทนโจทก์อีก 250,970 บาท แต่จำนวนเงินดังกล่าวไม่น่าจะถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มากนักสำหรับจำเลยที่ 1 ทั้งก่อนจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ เป็นครั้งที่ 5 นั้น ศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 มาแล้วถึง 4 โดยในครั้งที่ 4 ศาลชั้นต้นได้อนุญาตขยายระยะเวลาให้จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ได้จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 จึงมีเวลาจัดหาเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา คือ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 จนถึงวันดังกล่าวรวมเป็นเวลานานถึง 3 เดือนเศษ ซึ่งเป็นเวลามากพอที่จะหาเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลได้ นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำแก้ฎีกาคัดค้านเป็นอย่างอื่นว่าในช่วงเวลานั้นจำเลยที่ 1 ก็ยังคงประกอบธุรกิจการโรงแรมอยู่จึงน่าจะมีรายได้จากธุรกิจดังกล่าวด้วย ดังนั้นหากจำเลยที่ 1 จะขวนขวายจัดหาเงินค่าธรรมเนียม มาวางศาลก็น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 สามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกค้าต่างประเทศโอนเงินมาให้ตามที่อ้างมาในคำร้อง ตามพฤติการณ์น่าจะเป็นข้ออ้างเพื่อประวิงคดีให้ล่าช้าเท่านั้น กรณีจึงถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษตามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 23 ในอันที่จะให้ศาลมีอำนาจสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ได้อีก
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 5 ฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ของจำเลยที่ 1