คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค มูลนิธิเกี่ยวกับคริสต์จักร์ หรือมัสยิดอิสลามต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีและให้ได้มาไม่เกิน 50 ไร่ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.ที่ดิน มาตรา 84 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อจำเลยเป็นมูลนิธิไม่ใช่มัสยิดอิสลาม จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของบทกฎหมายดังกล่าว
คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อ 3 ว่าโจทก์มีสิทธิเพิกถอนที่ดินพิพาทหรือไม่ เพียงใด ประเด็นข้อพิพาทข้อนี้เกี่ยวเนื่องมาจากประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ที่ว่า จำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยชอบหรือไม่ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่ว่าการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยชอบหรือไม่ และเพิกถอนการโอนได้หรือไม่ อันเป็นเรื่องของการได้มาโดยนิติกรรม แต่การได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ใช่เป็นการได้มาโดยนิติกรรม จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่ว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามมาตรา 1382 ไว้ เมื่อไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ก็เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามมาตรา 1382 จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้ถอนชื่อจำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๑๙ ตำบลหนองจอกฝั่งเหนือ อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร แล้วใส่ชื่อโจทก์ที่ ๑ ไว้ตามเดิม หากจำเลยขัดขืนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินตามฟ้องให้เจ้าพนักงานดำเนินการแก้ไข หากขัดขืนขอศาลสั่งทำลายโฉนด แล้วออกโฉนดใหม่ให้โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของให้ใส่ชื่อโจทก์ที่ ๒ ถึงโจทก์ที่ ๗ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์คนละ ๔ ไร่ ๓๘ ตารางวา มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า จำเลยเป็นมัสยิดอิสลาม การได้มาซึ่งที่ดินต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีมหาดไทย และให้ได้มาไม่เกิน ๕๐ ไร่ ตาม ป.ที่ดิน มาตรา ๘๔ แต่การที่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายไม่ก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์แก่จำเลยนั้น ป.ที่ดิน มาตรา ๘๔ วรรคแรก บัญญัติว่า การได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค มูลนิธิเกี่ยวกับคริสต์จักร์หรือมัสยิดอิสลามต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีและให้ได้มาไม่เกิน ๕๐ ไร่ ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมีข้อความชัดเจนว่า เฉพาะวัดในพระพุทธศาสนา วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค มูลนิธิเกี่ยวกับคริสต์จักร์และมัสยิดอิสลามเท่านั้น ที่ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีในการได้มาซึ่งที่ดิน แต่จำเลยเป็นมูลนิธิไม่ใช่มัสยิดอิสลาม จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาโจทก์ทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ย่อมไม่ชอบนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาของนายสุโก๊ดกับโจทก์ที่ ๑ เมื่อนายสุโก๊ดถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทก็ต้องแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นภริยานายสุโก๊ด ๑ ส่วน อีก ๑ ส่วนเป็นมรดกของนายสุโก๊ดย่อมตกได้แก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ นายดำเนินบิดาโจทก์ที่ ๔ และโจทก์ที่ ๕ ถึงที่ ๗ คนละ ๑ ส่วน ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ ๕๗ ไร่ ๑ งาน ๔๒ ตารางวา แบ่งเป็น ๒ ส่วน มีเนื้อที่ส่วนละ ๒๘ ไร่ ๒ งาน ๗๑ ตารางวา ส่วนที่เป็นมรดกแบ่งเป็น ๗ ส่วน มีเนื้อที่ส่วนละ ๔ ไร่ ๓๘ ตารางวาเศษ ที่ดินจึงตกได้แก่โจทก์ที่ ๑ เนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๓ งาน ๘ ตารางวาเศษ ตกได้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ คนละ ๔ ไร่ ๓๘ ตารางวาเศษ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. ๙ ที่โจทก์ที่ ๑ มอบอำนาจให้นายสุชาติโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยนั้น โจทก์ที่ ๑ หามีอำนาจมอบอำนาจให้โอนที่ดินส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ให้แก่จำเลยไม่ และนายสุชาติก็ไม่มีอำนาจจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ให้แก่จำเลย จำเลยจึงได้รับโอนที่ดินส่วนดังกล่าวมาโดยไม่ชอบ โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ย่อมมีสิทธิเพิกถอนได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนี้โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ โดยเห็นว่าเป็นประเด็นข้อพิพาทที่รวมอยู่ในข้อที่ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิเพิกถอนที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การว่า ได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยถูกต้องและได้เข้าครอบครองอย่างเป็นเจ้าของโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเท่ากับเป็นการอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงไม่มีปัญหาเรื่องแย่งการครอบครองเพราะการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ ๓ ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิเพิกถอนที่ดินพิพาทหรือไม่ เพียงใด ประเด็นข้อพิพาทข้อนี้เกี่ยวเนื่องมาจากประเด็นข้อพิพาทข้อ ๒ ที่ว่า จำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยชอบหรือไม่ ตามประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่ว่าการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยชอบหรือไม่ และเพิกถอนการโอนได้หรือไม่ อันเป็นเรื่องของการได้มาโดยนิติกรรม แต่การได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ไม่ใช่เป็นการได้มาโดยนิติกรรม ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่า ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่ว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ไว้ เมื่อไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ก็เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จะฟังว่า โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ มีสิทธิได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนละ ๔ ไร่ ๓๘ ตารางวาเศษ และมีสิทธิเพิกถอนที่ดินส่วนนี้ที่ได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้ แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดขอให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทคนละ ๔ ไร่ ๓๘ ตารางวา จึงพิพากษาให้ได้ตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดมีคำขอเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๑๙ เลขที่ดิน ๒๔ ตำบลหนองจอกฝั่งเหนือ อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร คนละ ๔ ไร่ ๓๘ ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share