แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ประสบปัญหาด้านการตลาด คำสั่งซื้อสินค้าลดลงมาก ทำให้การดำเนินงานของโจทก์ในส่วนการประกอบชิ้นส่วนลดน้อยลง ถือเป็นเหตุจำเป็นที่โจทก์สามารถสั่งให้หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ การที่โจทก์สั่งให้ลูกจ้างที่ทำงานในส่วนการประกอบหยุดงานชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือนจึงชอบด้วยกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในช่วงที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เมื่อโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างในวันทำงาน รวมทั้งเบี้ยขยันและค่าอาหาร รวมแล้วประมาณร้อยละ 80 ของค่าจ้าง นับว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างอยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างปกติเต็มจำนวนให้แก่ลูกจ้างที่โจทก์สั่งให้หยุดงานชั่วคราวอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี จำเลยสอบสวนแล้วมีคำสั่งที่ 007/2542 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ว่า คำสั่งที่สั่งให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวของโจทก์ไม่ชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่ยื่นคำขอจำนวน 180 คน เป็นเงิน 335,456.14 บาท ซึ่งคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การหยุดกิจการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 นั้น มุ่งถึงตัวกิจการงานเป็นสาเหตุ มิได้มุ่งถึงให้เลือกปฏิบัติกับบุคคล การที่โจทก์สั่งให้ลูกจ้างของโจทก์บางส่วนหยุดงานเป็นการชั่วคราว โดยพิจารณาถึงคนมิใช่พิจารณาจากงาน จึงเป็นสาเหตุให้โจทก์สั่งให้หยุดกิจการชั่วคราวได้นั้น เห็นว่าเหตุจำเป็นของโจทก์ในคดีนี้มีมูลเหตุมาจากงานที่ส่วนการประกอบลดน้อยลง ซึ่งก็มีผลโดยตรงถึงคน คือมีงานไม่เพียงพอให้ลูกจ้างในส่วนดังกล่าวทำ เมื่อโจทก์ประสบปัญหาด้านการตลาด คำสั่งซื้อสินค้าลดลงมาก ทำให้ส่วนการประกอบมีคำสั่งซื้อลดลง ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นที่โจทก์สามารถสั่งให้หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ การที่โจทก์สั่งให้ลูกจ้างที่ทำงานในส่วนการประกอบหยุดงานชั่วคราว 2 เดือน จึงชอบด้วยมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แล้วซึ่งในช่วงที่หยุดกิจการชั่วคราวนั้น นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่โจทก์ได้จ่ายค่าจ้างอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างในวันทำงาน เบี้ยขยันเดือนละ 1,000 บาท และค่าอาหารเดือนละ 480 บาท รวมแล้วประมาณร้อยละ 80 ของค่าจ้าง นับว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างอยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างปกติเต็มจำนวนให้แก่ลูกจ้างที่โจทก์สั่งให้หยุดงานชั่วคราวอีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
??
??
??
??
1