คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8747/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นมิซซังโรมันคาธอลิค ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิคในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 อนุญาตให้มิซซังโรมันคาธอลิคคณะหนึ่ง ๆ มีฐานะเป็นหมู่คณะแยกต่างหาก เพื่อให้มีอำนาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยกฎหมายใช้ศัพท์ว่า บริษัท ในความหมายที่ว่า หมู่คณะแยกต่างหากจากกัน ดังที่ต่อมาเรียกว่า นิติบุคคล หาได้มีความหมายว่าบริษัทจำกัดไม่ ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 65 บัญญัติว่า นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือประมวลกฎหมายอื่น ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น มีอำนาจทำสัญญาเช่า และฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑,๐๘๓.๖๐ บาท และใช้ค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ ๓๖๑.๒๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน ๘๒๐ บาท แก่โจทก์ และใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๓๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ จนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๑,๕๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิคในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. ๑๒๘ ข้อ ๑ บัญญัติว่า “คณะโรมันคาธอลิคในกรุงสยามนี้ ไม่เลือกว่ามิซซังแลบาดหลวงจะเป็นคนชาติภาษาใด ๆ ได้รับอนุญาตตามกฎหมายฝ่ายสยาม ให้เป็นบริษัทอันหนึ่งเฉพาะวิการิโอ อาปอสตอลิโกแห่งหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจถือที่ดินสำหรับประโยชน์มิซซัง ตามข้อความที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้” บทบัญญัติดังกล่าวนี้มีความหมายว่า อนุญาตให้มิซซังโรมันคาธอลิคคณะหนึ่ง ๆ มีฐานะเป็นหมู่คณะแยกต่างหาก เพื่อให้มีอำนาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยกฎหมายใช้ศัพท์ว่า บริษัท ในความหมายที่ว่า หมู่คณะแยกต่างหาก ดังที่ต่อมาเรียกว่า นิติบุคคล คำว่า บริษัทในกฎหมายฉบับนี้ หาได้มีความหมายว่า บริษัทจำกัด ซึ่งเป็นคำศัพท์ในภายหลัง เช่นที่จำเลยกล่าวในฎีกาไม่ บทกฎหมายที่ให้อำนาจเช่นนี้ คงใช้บังคับอยู่ตลอดมา ป.พ.พ. บรรพ ๑ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕ ตลอดจน พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕ ไม่มีบทบัญญัติให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ยังมีบทบัญญัติมาตรา ๖๕ แห่ง ป.พ.พ. บรรพ ๑ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า “นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” ด้วยเหตุนี้ โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น มีอำนาจทำสัญญาเช่าและฟ้องจำเลยได้…
พิพากษายืน ค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share