แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จะฟังได้ความว่า จำเลยทำการตอกหรือหล่อเสาเข็มแล้วเสร็จ แต่งานก่อสร้างอาคารชุดพิพาทก็ยังคงต้องดำเนินการต่อเนื่องไปจนเสร็จบริบูรณ์ จะถือเอางานช่วงใดช่วงหนึ่งที่จำเลยก่อสร้างเสร็จเป็นวันเริ่มนับอายุความฟ้องร้องหาได้ไม่ ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยยังกระทำการก่อสร้างต่อไปซึ่งเป็นเหตุให้อาคารโจทก์ได้รับความเสียหาย ย่อมถือ ได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์ติดต่อกันตลอดมาอยู่ตราบนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เพราะการกระทำนั้นได้ นับแต่วันที่จำเลยก่อสร้างอาคารชุดพิพาทเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2535 อันถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2535 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก
จำเลยฎีกาอ้างว่า ผู้ทำการตอกเจาะหล่อเสาเข็มในการก่อสร้างอาคารชุดนั้น คือ บริษัท ส. จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เป็นกรณีบุคคลหลายคนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยร่วมกันทำละเมิด แม้จะไม่สามารถรู้ตัวได้แน่ว่าคนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นก็ตาม จำเลยก็ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 432
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ระงับการก่อสร้าง และร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 6,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทคอมเมอร์เชียล ยูเนี่ยนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขอนอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดสูง 24 ชั้น โครงการชื่อว่า “เดอะลีกาซี่วิภาวดี” จำเลยที่ 4 เป็นวิศวกร ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 การก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าวเป็นเหตุให้อาคารโจทก์ทั้ง 2 หลังได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า จากคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ เห็นได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2533 แม้จะนับต่อไปอีก 3 เดือน ดังที่โจทก์เบิกความไว้ ระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำละเมิดก็ไม่เกินเดือนมกราคม 2534 แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2535 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยเอาเหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยมาสนับสนุนว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ หาถูกต้องไม่เพราะเป็นการขยายอายุความออกไปนั้น เห็นว่า แม้จะฟังได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำการตอกหรือหล่อเสาเข็มแล้วเสร็จ แต่งานการก่อสร้างอาคารชุดพิพาทก็ยังคงต้องดำเนินการต่อเนื่องไปจนเสร็จบริบูรณ์ จะถือเอางานช่วงใดช่วงหนึ่งที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก่อสร้างเสร็จเป็นวันเริ่มนับอายุความฟ้องร้องหาได้ไม่ ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยังกระทำการก่อสร้างต่อไปซึ่งเป็นเหตุให้อาคารโจทก์ต้องได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ยอมละเว้นหรือระงับความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของโจทก์ ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์ติดต่อกันตลอดมาอยู่ตราบนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพราะการกระทำนั้นได้นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก่อสร้างอาคารชุดพิพาทเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2535 อันถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2535 จึงไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อสิทธิโจทก์คือทำให้บ้านโจทก์เสียหาย จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420,432 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาอ้างว่า ผู้ทำการตอกเจาะหล่อเสาเข็มในการก่อสร้างอาคารชุดนั้นคือบริษัทสยามโทเนะ จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ทำให้บ้านโจทก์เสียหาย และโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จะฟังได้ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวก็หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 พ้นความรับผิดไปได้ไม่เพราะกรณีพิพาทเป็นเรื่องที่บุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่โจทก์โดยร่วมกันทำละเมิด แม้จะไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้นคนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นด้วยก็ตาม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติมาตรา 432 ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์