คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8834/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 8 (11) เป็นบทบัญญัติห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แม้ว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนก็ตาม ในกรณีนี้ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกในความตกลงระหว่างประเทศ คือข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้ารวมทั้งที่เกี่ยวกับสินค้าปลอม ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่นั้น จึงให้พิเคราะห์ถึงความเป็นที่รู้จักของเครื่องหมายการค้านั้นในกลุ่มของสาธารณชนส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเป็นที่รู้จักกันในประเทศภาคีสมาชิกนั้นอันเป็นผลเนื่องมาจากการส่งเสริมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วย
เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศ และโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าเสื้อกีฬาเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศ อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แม้เครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวจะยังมิได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยมาก่อนก็ตาม เครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตรา 8 (11) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 คำสั่งที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้สั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเนื่องจากเครื่องหมายที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่มีความคล้ายกับเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลอาชีพหรือทีมชาติฟุตบอลของต่างประเทศตามที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ากล่าวอ้าง โจทก์ไม่มีเจตนาลอกเลียนแบบหรือนำเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลอาชีพหรือทีมชาติฟุตบอลของต่างประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของทีมฟุตบอลสโมสรต่างประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกฤดูการแข่งขัน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ากล่าวอ้างจะได้มีการจดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้จำเลยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าคำขอของโจทก์
จำเลยให้การว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เนื่องจากคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าจึงชอบด้วยข้อเท็จจริง เหตุผล และข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำนวน 5 คำขอ ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 25 รายการสินค้า เสื้อกีฬา และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้ว ต่อมานายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเห็นชอบด้วยและมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อศาล
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งห้าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นเหตุให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าดังกล่าวตามคำขอของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 61 ประกอบมาตรา 8 (11) และมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ได้หรือไม่ และคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 8 (11) บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยลักษณะ” นั้น เป็นบทบัญญัติห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใดแล้วหรือไม่ และห้ามนายทะเบียนโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แม้ว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดเดียวกันหรือที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ห้ามมิให้บุคคลใดขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั้วไป ไม่ว่าจะขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใด แม้เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะยังมิได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใดก็ตาม และไม่อาจขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปสำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดเดียวกันหรือที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน หลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แม้ว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดเดียวกันหรือที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันนั้น ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 8 (11) ดังกล่าว พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 80 มาตรา 81 และมาตรา 94 ให้นำมาใช้บังคับแก่เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วมโดยอนุโลม ตามลำดับ อีกด้วย อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้คำนิยามหรือความหมายของคำว่า “เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป” เอาไว้ด้วย ในเรื่องนี้ปรากฏว่าประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกในความตกลงระหว่างประเทศคือ ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้ารวมทั้งที่เกี่ยวกับการค้าสินค้าปลอม หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า ข้อตกลงทริปส์ (TRIPs Agreement) อยู่ด้วย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 ซึ่งออกตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งในข้อ 16 (2) แห่งข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้พอสรุปความได้ว่าให้ใช้บทบัญญัติในข้อ 6 ทวิ แห่งอนุสัญญากรุงปารีส (1967) บังคับแก่เครื่องหมายบริการโดยอนุโลม ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ ให้พิเคราะห์ถึงความเป็นที่รู้จักของเครื่องหมายการค้านั้นในกลุ่มของสาธารณชนส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเป็นที่รู้จักกันในประเทศภาคีสมาชิกนั้นอันเป็นผลเนื่องมาจากการส่งเสริมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วย แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นประเทศภาคีสมาชิกในอนุสัญญากรุงปารีส แต่ประเทศไทยก็ได้ให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และประเทศไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิกประเทศหนึ่งในข้อตกลงทริปส์ ซึ่งโดยหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องผูกพันตามข้อตกลงทริปส์อันเป็นความตกลงระหว่างประเทศนั้นด้วย ดังนี้ ความหมายหรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังที่กำหนดไว้ในข้อ 16 (2) แห่งข้อตกลงทริปส์ จึงอาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการตีความหรือแปลความหมายของคำว่า “เครื่องหมายที่มีชื่อเสียแพร่หลายทั่วไป” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 (11) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้ ต่อมาได้มีผู้จำหน่ายเสื้อกีฬามาร้องเรียนขอให้กรมจำเลยตรวจสอบว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล. 12 มีลักษณะเป็นรูปโล่มีดาวอยู่ด้านบนในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายรูปโล่มีดาวอยู่ด้านบนของสโมสรฟุตบอลเอซี มิลาน แตกต่างกันเพียงขนาดของเครื่องหมายเท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล. 14 ที่มีลักษณะคล้ายโล่ซ้อนกัน 2 ชั้น รูปโล่ชั้นในมีรูปถ้วยรางวัลและมีลายเป็นเส้นตรงแนวตั้งจำนวน 4 เส้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายรูปโล่ของสโมสรฟุตบอลปาร์มา เอซี แตกต่างกันเพียงเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลดังกล่าวไม่มีรูปถ้วยรางวัล แต่มีเครื่องหมายเป็นรูปกากบาทแทน กับมีคำว่า “PARMA A.C.” อยู่ด้านบน และรูปโล่มิได้มี 2 ชั้น อย่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล. 15 เป็นรูปคล้ายโล่มีตัวอักษรโรมันเด่นชัด 3 ตัว คือ AFA และรูปหรีดใบไม้อยู่ภายใน ซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายคล้ายรูปโล่ของทีมฟุตบอลชาติอาร์เจนตินา ซึ่งมีตัวอักษรโรมันว่า AFA พร้อมพู่ดอกไม้คล้ายหรีดของโจทก์ห้อยลงมาในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล. 16 ที่เป็นรูปคนประดิษฐ์ครึ่งตัวคล้ายนักรบอยู่ในวงกลม ซึ่งก็คล้ายกับเครื่องหมายรูปคนประดิษฐ์ครึ่งตัวคล้ายนักรบอยู่ภายในวงกลมของสโมสรฟุตบอลอาแอกซ์ อัมสเตอร์ดัม ต่างกันเพียงเครื่องหมายของโจทก์ไม่มีคำว่า “AJAX” อยู่ด้านบนโค้งของวงกลมเยื้องไปทางซ้ายกับไม่มีคำว่า “AMSTERDAM” อยู่บนโค้งของวงกลมด้านล่างเยื้องมาทางขวาอย่างในเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลดังกล่าวเท่านั้น ลักษณะเด่นในเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์เหมือนกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวทุกประการ คงแตกต่างกันเฉพาะในส่วนปลีกย่อยเท่านั้น เมื่อนำเครื่องหมายดังกล่าวไปติดกับเสื้อกีฬาหากไม่สังเกตให้ดีและด้วยความระมัดระวังย่อมยากที่จะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวได้ เมื่อได้นำเครื่องหมายนั้นไปใช้กับสินค้าเสื้อกีฬา ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเสื้อกีฬานั้นได้ เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งห้าเครื่องหมายของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศ และโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าเสื้อกีฬาเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แม้เครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวจะยังมิได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยมาก่อนที่โจทก์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ตาม เครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตรา 8 (11) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กรณีเช่นนี้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นได้ตามมาตรา 61 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวได้ตามมาตรา 65 คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว
พิพากษายืน.

Share