แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยต่างเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งใช้คำในภาษาต่างประเทศเป็นสาระสำคัญเหมือนกัน คือ โจทก์ใช้คำอักษรโรมันว่า “BRUSEL” ส่วนจำเลยใช้คำว่า “BUSHEL” เห็นได้ว่ามีอักษรจำนวน 6 ตัวเท่ากัน ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกัน และเป็นอักษรตัวเดียวกันถึง 5 ตัว โดยเฉพาะอักษรตัวแรกที่สังเกตเห็นได้ก่อนก็ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร B และลงท้ายเป็นตัวอักษร L เหมือนกัน เมื่อพิจารณาประกอบกับการเรียกขานคำ เครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างออกเสียง 2 พยางค์ โดยของโจทก์อ่านออกเสียงว่า “บรุสเซล” ส่วนของจำเลยอ่านออกเสียงว่า “บูเชล” อักษรหลักในการออกเสียงใช้เสียง “บ” เหมือนกัน ใช้สระ “อู” หรือ “อุ” ซึ่งออกเสียงใกล้เคียงกัน พยางค์ที่สองก็ใช้สระ “เอ” เหมือนกัน แม้จะมีข้อแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการใช้ตัวอักษรประดิษฐ์รูปตัว S ที่ตัว S ของคำดังกล่าว เมื่อโจทก์และจำเลยต่างใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเช่นเดียวกันย่อมเป็นการยากที่สาธารณชนจะสังเกตเห็นข้อแตกต่างที่มีเพียงเล็กน้อยนั้นได้ชัดเจน อีกทั้งผู้ซื้อสินค้าอาจไม่มีโอกาสเห็นเครื่องหมายการค้าทั้งสองเปรียบเทียบกันและผู้ซื้อบางส่วนอาจไม่สันทัดในภาษาอังกฤษด้วย ดังนั้น เครื่องหมายการค้าทั้งสอง จึงคล้ายกันจนถึงขนาดที่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นกับสินค้าตามที่จดทะเบียนไว้ และจำเลยย่อมไม่มีสิทธินำเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แม้นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลย โจทก์ก็ยังมีสิทธิดีกว่าจำเลย ชอบที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ และการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวก็ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
เมื่อเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว การยื่นขอจดทะเบียนใหม่และการอื่นที่เกี่ยวข้องในภายหน้าเป็นกรณีเกี่ยวกับการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้นและการกระทำเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าอื่นนั้น ไม่แน่ว่าเครื่องหมายการค้าอื่นที่หากจำเลยจะใช้นั้นจะเหมือนหรือคล้ายของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่หากเกิดขึ้นก็จะต้องว่ากล่าวกันใหม่ในภายหน้า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย และเครื่องหมายการค้าอื่นที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยนั้น จึงไม่ชอบและเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าและสลากเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “BRUSEL” ดังกล่าวข้างต้นรวมตลอดถึงเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า “BUSHEL” ให้จำเลยถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 22978 (คำขอเลขที่ 263255) หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวรวมตลอดทั้งเครื่องหมายการค้าใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าและสลากเครื่องหมายการค้าอักษรมันคำว่า “BRUSEL” ในลักษณะต่าง ๆ กันดังกล่าวแล้วของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าและสลากเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า “BRUSEL” ในรูปแบบต่าง ๆ ดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “BUSHEL” ตามทะเบียนเลขที่ ค 22978 (คำขอเลขที่ 263255) ห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียน หรือเข้าเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าว รวมตลอดทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าและสลากเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “BRUSEL” ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันจนถึงขนาดนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยต่างเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งใช้คำในภาษาต่างประเทศเป็นสาระสำคัญเหมือนกันคือ คำอักษรโรมันว่า “BRUSEL” และ “BUSHEL” ซึ่งต่างอ่านออกเสียงเป็น 2 พยางค์ เหมือนกัน ตัวอักษรมีจำนวน 6 ตัว เท่ากัน อักษรส่วนใหญ่เขียนตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกัน และเป็นอักษรตัวเดียวกันถึง 5 ตัว โดยเฉพาะอักษรตัวแรกที่สังเกตเห็นได้ก่อนขึ้นต้นด้วยตัวอักษร B เหมือนกัน และอักษรตัวสุดท้ายยังลงท้ายด้วยตัวอักษร L เหมือนกัน อักษรตรงกลางอีก 4 ตัว ก็มีที่เหมือนกัน 3 ตัว คือ ตัว U, S และ E ต่างกันเพียง 1 ตัว คือตัว R ที่มีเฉพาะในเครื่องหมายของโจทก์ และตัว H ที่มีเฉพาะในเครื่องหมายของจำเลยเท่านั้น และเมื่อพิจารณาประกอบกับการเรียกขานคำตามเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำที่ของโจทก์อ่านออกเสียง “บรุสเซล” ส่วนของจำเลยอ่านว่า “บูเชล” แล้ว เห็นได้ว่า ตัวอักษรที่ใช้ซ้ำกันนั้น ตัว “B” เป็นอักษรที่เป็นหลักในการอ่านออกเสียงตัว “บ” เหมือนกัน ตัว “U” ใช้เป็นสระเพื่อออกเสียงเป็นสระ “อู” หรือสระ “อุ” ซึ่งออกเสียงใกล้เคียงกัน ตัว “E” ใช้เป็นสระให้ออกเสียงสระ “เอ” เหมือนกัน และตัว “L” ตัวสุดท้ายก็ใช้เป็นตัวสะกดให้ออกเสียง “ล” เหมือนกัน ส่วนตัวอักษรที่ต่างกันคือตัว “R” และตัว “H” ดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ใช้เป็นสระหรือตัวสะกดเพียงแต่คำว่า “BRUSEL” ของโจทก์ในพยางค์แรกที่ใช้ตัว “R” ตามหลังตัว “B” เพื่อออกเสียง “ร” ควบกล้ำกับ “บ” เท่านั้น แต่ก็ยังออกเสียงนำด้วยตัว “บ” เหมือนกับของจำเลย ส่วนคำว่า “BUSHEL” ของจำเลยพยางค์หลังใช้ตัว “H” ตามหลังตัว “S” เพื่อทำให้อ่านออกเสียงคำพยางค์หลังว่า “เชล” ต่างจากของโจทก์ที่อ่านว่า “เซล” เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนี้คำตามเครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีลักษณะอักษรและการเขียนคล้ายกันในส่วนสำคัญเป็นส่วนใหญ่ และสำเนียงเรียกขานก็ถือว่าใกล้เคียงกันเพราะอ่านออกเสียงต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีการใช้อักษรตัว “S” เป็นอักษรประดิษฐ์เป็นรูป อยู่เหนือคำ “BRUSEL” และใช้ตัว “S” ประดิษฐ์ดังกล่าว ที่ตัว “S” ของคำดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งหมดโดยรวมแล้ว จะเห็นได้ว่า ตัวอักษร “S” ประดิษฐ์ดังกล่าว เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยเท่านั้น โดยส่วนที่เห็นได้เด่นชัดเป็นสาระสำคัญคือคำว่า “BRUSEL” นั่นเอง และเมื่อคำ “BRUSEL” กับคำ “BUSHEL” ซึ่งต่างเป็นสาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีลักษณะตัวอักษรและการเรียกขานคล้ายกัน โดยมีข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อยดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยต่างใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเช่นเดียวกัน ย่อมเป็นการยากแก่สาธารณชนที่จะสังเกตเห็นข้อแตกต่างที่มีเพียงเล็กน้อยนั้นได้ชัดเจน ทั้งในการซื้อสินค้าดังกล่าวผู้ซื้อสินค้าอาจไม่มีโอกาสเห็นเครื่องหมายการค้าทั้งสองเปรียบเทียบกันและผู้ซื้อบางส่วนอาจไม่สันทัดในภาษาอังกฤษด้วย จึงเห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองคล้ายกันจนถึงขนาดที่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ และปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้เครื่องหมายดังกล่าวไว้ก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นกับสินค้าตามที่จดทะเบียนไว้ และจำเลยย่อมไม่มีสิทธินำเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แม้นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลย โจทก์ก็ยังมีสิทธิดีกว่าจำเลย ชอบที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ และการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวก็ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของจำเลยและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยและเครื่องหมายการค้าอื่นที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยนั้น เมื่อเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว การยื่นขอจดทะเบียนใหม่และการเกี่ยวข้องในภายหน้าเป็นกรณีเกี่ยวกับการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น และการกระทำเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าอื่นนั้น ไม่แน่ว่าเครื่องหมายการค้าอื่นที่หากจำเลยจะใช้นั้นจะเหมือนหรือคล้ายของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่หากเกิดขึ้นก็จะต้องว่ากล่าวกันใหม่ในภายหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับห้ามจำเลยในการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้นดังกล่าวในคดีนี้ได้ ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับคำขอตามคำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ให้ห้ามเฉพาะการใช้เครื่องหมายการค้า เท่านั้น คำขอที่ห้ามยื่นจดทะเบียน ห้ามเกี่ยวข้องและคำขอเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์.