คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป. น. และ ส. มิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ขายในสัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขและไม่มีหลักฐานว่าได้มอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้ขายหุ้นของตนหรือ บริษัท ก. เป็นผู้ขายหุ้นของ ป. น. และ ส. ถือไม่ได้ว่า ป. น. และ ส. ได้ขายหุ้นของตนให้แก่โจทก์ สัญญาขายหุ้นจึงไม่มีผลผูกพัน ป. น. และ ส. โจทก์ไม่มีตราสารการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่ ป. น. และ ส. โอนให้แก่โจทก์เป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนและมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือชื่อนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง มาแสดง ถือไม่ได้ว่าหุ้นของ ป. น. และ ส. ได้โอนไปยังโจทก์แล้ว ป. น. และ ส. ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ก.
สัญญาขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไข ซึ่งมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า “อนึ่ง ในวันทำสัญญานี้ผู้ขายได้ทำตราสารการโอนหุ้นมีผลเป็นการโอนหุ้นที่ตกลงซื้อตามข้อ 1 เสร็จ โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้นาย ว. เก็บรักษาไว้จนกว่าผู้ซื้อจะดำเนินการตามสัญญาเสร็จ” ถือไม่ได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นแบบตราสารการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่เป็นหนังสือโดยลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนและมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือชื่อนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง เพราะข้อความดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไข ทั้งสัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขก็มิใช่แบบตราสารการโอนหุ้นตาม มาตรา 1129 วรรคสอง ป. น. และ ส. จึงยังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนตามคำขอที่ ๖๔๕๘/๒๕๓๖ (ที่ถูกเป็นคำขอที่ ๔ ๖๔๕๘/๒๕๓๖) และเพิกถอนการจดทะเบียนดวงตราใหม่ของบริษัทดังกล่าว หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
จำเลยที่ ๑ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า การที่จำเลยที่ ๑ รับจดทะเบียนบริษัทจำกัดแก้ไขเพิ่มเติมตามคำขอที่ ๔ ๖๔๕๘/๒๕๓๖ ของบริษัทกรุ๊ป จำกัด นั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขตามสำเนาสัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขนั้น ปรากฏว่านายประสิทธิ์ คูวัธนไพศาล นางน้ำฝน จำนงค์ศิลป์ และนายสัญญา แจ่มศรี มิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ขาย ทั้งไม่มีหลักฐานว่านายประสิทธิ์ นางน้ำฝน และนายสัญญาได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ หรือจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ขายหุ้นของตนหรือบริษัทกรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ขายหุ้นของนายประสิทธิ์ นางน้ำฝน และนายสัญญาแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่านายประสิทธิ์ นางน้ำฝน และนายสัญญาได้ขายหุ้นของตนให้แก่โจทก์ทั้งสอง สัญญาขายหุ้นดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันนายประสิทธิ์ นางน้ำฝน และนายสัญญา ทั้งโจทก์ทั้งสองไม่มีตราสารการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่นายประสิทธิ์ นางน้ำฝน และนายสัญญาโอนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นหนังสือโดยลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนและมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือชื่อนั้นตามแบบดังระบุไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสอง มาแสดง จึงถือไม่ได้ว่าหุ้นของนายประสิทธิ์ นางน้ำฝน และนายสัญญาได้โอนไปยังโจทก์ทั้งสองแล้ว ส่วนสัญญาขายหุ้นระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แม้จะสมบูรณ์และมีผลผูกพันตามสัญญา แต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขว่า ภายหลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ผู้ขาย กับโจทก์ผู้ซื้อจะดำเนินการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อพิจารณาและมีมติเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งพิจารณาและมีมติให้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปเป็นสถานที่ที่ผู้ซื้อกำหนดและเสนอต่อที่ประชุมแล้ว ผู้ซื้อและหรือบริษัทต้องดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนของบริษัทให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว และระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อและหรือบริษัทไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ภายในกำหนด ๑๘๐ วัน นับแต่วันทำสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้สัญญาฉบับนี้เป็นอันยกเลิกและให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม สัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ เมื่อนับจนถึงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๕ อันเป็นวันที่นายประสิทธิ์ นางน้ำฝน นายสัญญา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ขอให้โจทก์ทั้งสองเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทกรุ๊ป จำกัด ปรากฏว่าเกินกำหนดเวลา ๑๘๐ วัน นับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ยังมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ สัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขย่อมยกเลิกไป โจทก์ทั้งสองจะอ้างสัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขว่าหุ้นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้โอนเป็นของโจทก์ทั้งสองโดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้นแล้วไม่ได้ แม้ตามสัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวจะระบุว่า “อนึ่ง ในวันทำสัญญานี้ผู้ขายได้ทำตราสารการโอนหุ้นมีผลเป็นการโอนหุ้นที่ตกลงซื้อตามข้อ ๑ เสร็จ โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้นายวันจันทร์ คิวบุณยวงค์ เก็บรักษาไว้จนกว่าผู้ซื้อจะดำเนินการตามสัญญาเสร็จ” ก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความดังกล่าวนั้น เป็นแบบตราสารการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่เป็นหนังสือโดยลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนและมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือชื่อนั้นตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๑๒๙ วรรคสอง เพราะข้อความดังกล่าวนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไข ทั้งสัญญาขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขก็มิใช่แบบตราสารการโอนหุ้นตามมาตรา ๑๑๒๙ วรรคสอง นอกจากนั้นโจทก์ทั้งสองไม่มีตราสารการโอนหุ้นที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โอนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามแบบที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๑๒๙ วรรคสอง มาแสดง พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองย่อมรับฟังไม่ได้ว่าหุ้นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้มีหลักฐานการโอนให้โจทก์ทั้งสองแน่นอนแล้ว ดังนั้น นายประสิทธิ์ นางน้ำฝน นายสัญญา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทกรุ๊ป จำกัด อยู่…
พิพากษายืน.

Share