คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3540/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยตกลงกับธนาคารให้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตให้โจทก์แทนการชำระหนี้ด้วยเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยโจทก์สามารถเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้ ไม่ต่างกับการเปลี่ยนการชำระหนี้โดยใช้ตั๋วเงินชนิดอื่นทั้งเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับธนาคาร โดยโจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีที่เกี่ยวข้องมิได้เข้าทำสัญญากับธนาคารด้วย และมิได้เป็นการแปลงหนี้ด้วยวิธีเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 เพราะธนาคารซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นลูกหนี้ใหม่ไม่ได้เข้ามาให้ความยินยอมทำสัญญาแปลงหนี้ด้วย กรณีจึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังมิได้ระงับสิ้นไป เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยจึงยังคงต้องรับผิด
จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามสำเนาสัญญาค้ำประกัน ซึ่งต้นฉบับอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้อ้างเป็นพยาน และขอให้ศาลหมายเรียกมาถึง 4 ครั้ง แต่จำเลยที่ 2ไม่ปฏิบัติตามจึงถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่โจทก์จะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้น จำเลยที่ 2 ได้ยอมรับแล้ว ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 123 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญาชำระหนี้และสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ ซึ่งระบุไว้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับค่าดอกเบี้ยจากการชำระหนี้ล่าช้าที่อัตราดอกเบี้ย 12 % ต่อปี จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าว
ทนายโจทก์แก้ฎีกาเกินกำหนด แต่ศาลรับไว้เป็นคำแถลงการณ์ถือว่าทนายได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทนายความให้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นผู้ซื้อและผู้ทำสัญญาค้ำประกันให้ร่วมกันชำระราคารถบรรทุกยี่ห้อนิสสัน รุ่น ซีดีเอ 12 เอ็มเอชอาร์แซด 17 คัน และรุ่นซีพีเอ 87 จีเอชเอส 10 คัน ที่ซื้อไปจากโจทก์รวมเป็นเงินพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 22,144,285.49 บาท กับให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน 20,835,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 22,144,285.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน 20,835,000 บาท นับจากวันที่ 12 พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 100,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่าเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อรถบรรทุกจากโจทก์จำนวน 17 คัน และวันที่ 30 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อรถบรรทุกจากโจทก์จำนวน 10 คันรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,835,000 บาท กำหนดชำระใน 90 วัน นับแต่วันที่ส่งมอบโจทก์ได้ส่งมอบรถทั้ง 27 คัน ให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คล่วงหน้าชำระราคารถให้โจทก์ 6 ฉบับ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน 5 ฉบับ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ ส่วนอีก 1 ฉบับ ยังไม่ได้นำเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินเพราะไม่ได้ลงวันที่ โจทก์เห็นว่าจำเลยเป็นลูกค้ารายใหญ่จึงขยายเวลาชำระหนี้ให้อีก 60 วัน โดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาชำระหนี้และออกเช็คจำนวน 2 ฉบับ ให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 2 ฉบับ จำเลยที่ 1 จึงขอเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้โดยขอออกเลตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศชนิดเพิกถอนไม่ได้ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้ให้โจทก์แทนเช็ค โดยโจทก์ต้องนำเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ต้นฉบับหนังสือสัญญาชำระหนี้ ต้นฉบับสัญญาค้ำประกันมาคืนจำเลยตามหนังสือของจำเลยที่มีไปถึงโจทก์ เพื่อให้จำเลยตรวจสอบลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารต่าง ๆ แล้วจะมอบเลตเตอร์ออฟเครดิตและลงชื่อในตั๋วแลกเงินให้โจทก์ แต่เมื่อโจทก์นำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้จำเลยแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวให้โจทก์ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกมีว่าการที่จำเลยตกลงกับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ให้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศชนิดเพิกถอนไม่ได้ให้โจทก์แทนการชำระหนี้ด้วยเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ หนี้เดิมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ เห็นว่า การแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 นั้น เป็นเรื่องที่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เช่น ทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไข เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไข เปลี่ยนเงื่อนไข เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ หรือเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เป็นต้น การที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับธนาคารให้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตให้โจทก์แทนการชำระหนี้ด้วยเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยโจทก์สามารถเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้ไม่ต่างกับการเปลี่ยนการชำระหนี้โดยใช้ตั๋วเงินชนิดอื่น ทั้งเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับธนาคารโจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีที่เกี่ยวข้องมิได้เข้าทำสัญญากับธนาคารด้วย และมิได้เป็นการแปลงหนี้ด้วยวิธีเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 เพราะไม่ปรากฏว่าธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นลูกหนี้ใหม่ได้เข้ามาให้ความยินยอมทำสัญญาแปลงหนี้ด้วย กรณีจึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังมิได้ระงับสิ้นไปเมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิด
ปัญหาประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายไชยสิทธิ์และนายเปรมชัยเป็นพยานเบิกความว่าเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 1 ทุกฉบับ โจทก์จึงติดต่อให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 อ้างว่า ยังไม่ได้รับเงินค่าขายรถจากส่วนราชการ และได้ทำหนังสือสัญญาชำระหนี้ให้โจทก์ไว้ 2 ฉบับ และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ทุกชนิด ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้โดยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแทนการชำระหนี้ด้วยเช็คที่จำเลยที่ 1 มีไปถึงโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือเตือนให้โจทก์มารับเลตเตอร์ออฟเครดิตพร้อมกับนำหลักฐานการเป็นหนี้ทั้งหมดมาให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบและลงชื่อรับรอง แต่เมื่อโจทก์นำเอกสารดังกล่าวไปให้ จำเลยที่ 2 กลับยึดไว้เสีย เห็นว่า หนังสือสัญญาชำระหนี้ ข้อ 4 ระบุไว้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันทั้งเป็นการส่วนตัวและอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้ตามสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ. 11 ข้อ 1 ก็ระบุไว้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าผูกพันและค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งหนี้ในขณะทำสัญญาค้ำประกันและหนี้ที่จะมีขึ้นในอนาคตโดยไม่จำกัดจำนวน และยังมีเอกสารหมาย จ. 16 ซึ่งเป็นต้นฉบับหนังสือที่จำเลยที่ 1 มีไปถึงโจทก์เตือนให้มารับเลตเตอร์ออฟเครดิตก็ได้ระบุไว้ในข้อ 5 ว่าให้โจทก์นำต้นฉบับสัญญาค้ำประกันส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2537 มาคืนด้วย และจำเลยทั้งสองได้ทำหลักฐานการรับสัญญาค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้สืบพยานกล่าวแก้ให้เห็นว่าไม่เป็นความจริงอย่างไร จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันและมีต้นฉบับอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 จริง โจทก์ได้อ้างเป็นพยานและขอให้ศาลหมายเรียกมาถึง 4 ครั้งแต่จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น จึงถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่โจทก์จะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้น จำเลยที่ 2 ได้ยอมรับแล้ว ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เอกสารหมาย จ. 11 ไม่มีส่วนใดที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการปิดอากรแสตมป์ไว้ที่ต้นฉบับนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมนำต้นฉบับมาแสดงจึงฟังเอาเป็นความจริงไม่ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองยื่นคำแถลงการณ์ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสอง ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ธนาคารจะชำระให้โจทก์แทนจำเลยก็ระบุจำนวนเงินเพียงเท่าราคาซื้อขายนั้น เห็นว่า เมื่อฟังว่าจำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญาชำระหนี้และสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ ซึ่งระบุไว้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับค่าดอกเบี้ยจากการชำระหนี้ล่าช้าที่อัตราดอกเบี้ย 12 % ต่อปี จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ทนายโจทก์แก้ฎีกาเกินกำหนด ศาลรับไว้เป็นคำแถลงการณ์ ถือว่าทนายได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทนายความให้ได้ เมื่อคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความของจำเลยทั้งสองประกอบด้วยแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 300,000 บาท แทนโจทก์.

Share