คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายกำหนดแบบไว้
การที่จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารหนังสือสัญญาค้ำประกันพิพาทแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทโจทก์เป็นคู่สัญญาหาทำให้จำเลยพ้นจากความผูกพันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวที่มีอยู่กับโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ สมัครเข้าทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายลูกค้ารายใหญ่ จำเลยที่ ๒ เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ขายรถยนต์เก๋งยี่ห้อนิสสัน รุ่นพรีเซีย ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แก่นางสาววราภรณ์หิรัญพต ในราคา ๖๙๙,๙๐๐ บาท และรับเงินจากผู้ซื้อแล้วไม่นำเงินมอบแก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ๗๒๙,๖๔๕ บาทแก่โจทก์ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๖๙๙,๙๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่เคยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ให้ไว้แก่โจทก์ หนังสือสัญญาค้ำประกันการทำงานตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๒ ทำไว้กับบุคคลอื่นซึ่งได้ตกลงยกเลิกสัญญาไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๖๙๙,๙๐๐ บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๙จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ ๒ ชำระหนี้ดังกล่าวแทน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ได้พาจำเลยที่ ๒ ไปที่บริษัทที่ทำงานของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อค้ำประกันการทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายลูกค้ารายใหญ่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๓ ที่ทำงานของจำเลยที่ ๑ ที่พาจำเลยที่ ๒ไปลงลายมือชื่อค้ำประกันตั้งอยู่ถนนรามอินทราแห่งเดียวกับบริษัทกรุงไทย คาร์เร้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ ๒ ที่ว่า จำเลยที่ ๒ ต้องผูกพันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๓ กับโจทก์หรือไม่ นั้นเห็นว่า นายสุนทร เหมะคีรินทร์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ ๑ มาสมัครทำงานกับโจทก์ มิได้สมัครทำงานกับบริษัทกรุงไทย คาร์เร้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยเขียนใบสมัครงานระบุชื่อ ที่อยู่ พร้อมแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านไว้ แต่เนื่องจากตำแหน่งงานที่สมัครมีความรับผิดชอบทางด้านการเงินสูงโจทก์จึงให้จำเลยที่ ๑ หาผู้ค้ำประกันการทำงาน โดยระหว่างหาผู้ค้ำประกันการทำงานไม่ได้ก็ให้จำเลยที่ ๑ ฝึกงานไปก่อน ในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ พาจำเลยที่ ๒ มาทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ปรากฎตามเอกสาร จ.๓ จำเลยที่ ๒ มิได้นำจำเลยที่ ๑ หรือพยานอื่นใดมาแสดงว่าจำเลยที่ ๑ มิได้สมัครทำงานกับโจทก์ เพียงต่อสู้ว่าหัวกระดาษเอกสารหมาย จ.๓ ระบุชื่อบริษัทกรุงไทย คาร์เร้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทในเครือ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ สมัครงานกับบริษัทกรุงไทย คาร์เร้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๒ ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้
ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ ๒ ที่ว่า โจทก์เพิ่งลงชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย จ.๓ ภายหลังจำเลยที่ ๑ ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสาร จ.๓ นั้น เห็นว่าสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายกำหนดแบบของสัญญาไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐ วรรคสอง ก็บัญญัติเพียงว่า “อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่” การที่จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.๓แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทโจทก์เป็นคู่สัญญาด้วย ก็หาทำให้จำเลยที่ ๒ พ้นจากความผูกพันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสาร จ.๓ ที่มีอยู่กับโจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลล่างวินิจฉัยให้จำเลยที่ ๒ รับผิดต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๓ ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share