คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9668/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ ต่อมาโจทก์พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันที่เช่าซื้อไปให้ผู้อื่นใช้ ได้มีการเจรจาตกลงกันโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมใช้ค่าเสียหายเท่ากับ ค่าเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทที่ค้าง แล้วโจทก์จะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงตกลงยินยอมทำหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทและหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ขึ้นใหม่ ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลง แปลงหนี้จากสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันรถยนต์คันพิพาทมาเป็นสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทและหนังสือรับสภาพหนี้แทนจึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในเงินที่ผิดนัดแต่ละงวดจนถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน ๑๑,๒๑๙.๑๗ บาท รวมเป็นเงิน ๑๖๑,๒๑๙.๑๗ บาท และ ให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๑๐๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ( ๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑,๕๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ และในเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๙ ถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวคำนวณถึงวันฟ้อง ( ๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ) ต้องไม่เกิน ๑๑,๒๑๙.๑๗ บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๒ ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า … พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขาย รถยนต์คันพิพาทในช่องผู้ซื้อ ตามหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย จ.๓ หรือ ล.๑ และจำเลยทั้งสองได้ลง ลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ในช่องผู้รับสภาพหนี้อันเกี่ยวกับรถยนต์คันพิพาท ตามหนังสือรับสภาพหนี้ เอกสารหมาย จ.๕ ให้ไว้แก่โจทก์ โดยรถยนต์คันดังกล่าวตกลงราคากัน ๓๘๘,๐๐๐ บาท คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในประการแรกว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์หรือทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ คันพิพาท ทั้งได้มีการกรอกข้อความในหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.๓ โดยจำเลยที่ ๑ มิได้ยินยอมด้วย อันจะมีผลทำให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาซื้อขายและตามหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบกันมาเมื่อรับฟังประกอบพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีแล้ว ข้อเท็จจริงจะฟังได้ ตามที่จำเลยที่ ๒ ยกขึ้นต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๙ ในราคา ๓๘๘,๐๐๐ บาท ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ยังคงฟังได้ต่อมาตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๙ โจทก์พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ ๑ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ นำรถยนต์คันพิพาทไปให้นายธเนศซึ่งเป็นเพื่อนของจำเลยที่ ๑ ใช้ ได้มีการเจรจาตกลงกันโดยจำเลยที่ ๑ ยินยอมใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อ รถยนต์คันพิพาทที่ค้างชำระจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท แล้วโจทก์จะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งในข้อนี้จำเลยที่ ๑ เบิกความว่า จำเลยที่ ๑ ได้โอนเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เข้าบัญชีทนายความของโจทก์ ส่วนที่ค้างชำระอีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ได้ชำระให้แล้วในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๙ ในวันดังกล่าวได้มีการทำหลักฐาน เกี่ยวกับการชำระหนี้ในส่วนที่เหลือไว้ด้วยตามเอกสารหมาย ล.๑ หรือ จ.๓ นอกจากนี้ยังได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ตามเอกสารหมาย จ. ๕ ไว้ด้วย โดยจำเลยที่ ๒ ก็เบิกความในประเด็นนี้ว่า ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ ได้นำเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นของนางวรรณดีไปชำระให้แก่โจทก์ที่องค์การโทรศัพท์ และทนายความของโจทก์ได้ให้จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๕ ไว้โดยให้จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับสภาพหนี้ตาม เอกสารหมาย จ.๕ ไว้เป็นผู้ค้ำประกันด้วย ซึ่งตามคำเบิกความของจำเลยทั้งสองดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทั้งสองได้ตกลงยินยอมที่จะทำเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๕ กับโจทก์ขึ้นใหม่ อันได้แก่หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาท และหนังสือรับสภาพหนี้ จึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงแปลงหนี้จากสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันรถยนต์คันพิพาทมาเป็นสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทและหนังสือรับสภาพหนี้แทนนั่นเอง เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสอง ลงลายมือชื่อในเอกสารทั้งสองฉบับโดยรู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงแล้วเช่นนี้ หนังสือสัญญาซื้อขายและหนังสือรับ สภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๕ จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย เมื่อการที่โจทก์กรอกวันที่ลงในหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.๓ เป็นการกระทำไปตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง หาใช่เป็นการลงวันที่โดยจำเลยทั้งสองมิได้ยินยอมด้วยแต่ประการใดไม่ ส่วนข้อความรายละเอียดอื่น ๆ ก็น่าเชื่อว่าโจทก์ได้กรอกข้อความโดยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยทั้งสอง ทั้งจำเลยที่ ๒ ก็มิได้ให้การต่อสู้ในส่วนดังกล่าวไว้ด้วย ดังนั้น หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.๓ และหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.๕ โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำกันขึ้นโดยมีเจตนาที่จะให้มีผลผูกพันกันจริง จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share