แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ สามี และบุตรเข้าพักที่โรงแรมของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทน ก่อนนอนโจทก์ได้ถอดตุ้มหูเพชร สร้อยคอทองคำ นาฬิกาข้อมือฝังเพชร เข็มกลัดเพชร วางไว้บนโต๊ะเครื่องแป้ง ตื่นขึ้นมาปรากฏว่าทรัพย์สินต่าง ๆ หายไป รวมราคาทั้งสิ้น 2,920,000 บาท เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้วเห็นว่าคนร้ายสามารถเข้าห้องโดยประตูทางเข้าเท่านั้น โจทก์ยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสามที่ไม่ดูแลกุญแจให้ดีปล่อยให้ใคร ๆ เอากุญแจไปใช้ได้ แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามประมาทเลินเล่ออย่างใดอันทำให้มีผลโดยตรงทำให้ทรัพย์ของโจทก์สูญหาย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์
ทรัพย์สินของโจทก์ที่หายคือ นาฬิกาเรือนทองฝังเพชร สายสร้อยคอทองคำ เหรียญหลวงพ่อคูณกรอบทองคำล้อมเพชร พระนางพญาเลี่ยมทอง ตุ้มหูเพชร เข็มกลัดเพชร และเงินสด ทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวด้วยเงิน ทอง ตรา ธนบัตร อัญมณีและของมีค่าอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 675 วรรคสอง ให้จำกัดความรับผิดไว้เพียง 500 บาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง โจทก์เป็นคนเดินทางหรือแขกอาศัยเมื่อไม่ฝากของมีค่าไว้ เจ้าสำนักจึงรับผิดเพียง 500 บาท ไม่ว่าของมีค่านั้นผู้เดินทางจะสวมใส่มาโดยเปิดเผยหรือไม่ก็ตามและหาใช่ว่าจะต้องฝากทรัพย์สินเฉพาะผู้ลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรมไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ สามีและบุตรโจทก์ได้เข้าพักที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ แม่โขงรอยัลของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ได้ห้องหมายเลข ๖๐๑๒ ซึ่งมิใช่สถานที่ที่คนไปมาเข้าออกได้ จากนั้นโจทก์ สามีและบุตรโจทก์ได้พักผ่อนนอนหลับ เมื่อโจทก์ตื่นขึ้นมาปรากฏว่าทรัพย์สินของโจทก์ที่นำติดตัวมาและถอดวางไว้บนโต๊ะและเก้าอี้ในห้องพักของโรงแรมได้สูญหายไปทั้งหมด ทรัพย์สินของโจทก์ที่สูญหาย รวมเป็นเงิน ๒,๙๒๐,๐๐๐ บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสาม เนื่องจากจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าสำนักโรงแรมมีหน้าที่ควบคุมดูแลจัดการและรับผิดชอบทรัพย์สินของแขกอาศัยที่เข้าพักมิให้สูญหาย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปล่อยปละละเลยในการบริการรักษาความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ โดยปล่อยให้คนร้ายใช้กลวิธีเปิดประตูห้องพักที่โจทก์เช่าอาศัยอยู่เข้าไปลักเอาทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒,๙๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๙ จนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน ๘๘,๘๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน ๓,๐๐๘,๘๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒,๙๒๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๕๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๙ จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้คำนวณจากทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ ๑,๐๐๐ บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๕ เวลาประมาณ ๑ นาฬิกา โจทก์ สามี และบุตรเข้าพักที่ห้องหมายเลข ๖๐๑๒ โรงแรมของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทน ก่อนนอนโจทก์ได้ถอดตุ้มหูเพชร สร้อยคอทองคำ นาฬิกาข้อมือฝังเพชร เข็มกลัดเพชร วางไว้บนโต๊ะเครื่องแป้ง ตื่นขึ้นมาเวลาประมาณ ๕ นาฬิกา ปรากฏว่าทรัพย์สินต่าง ๆ หายไปหมด รวมราคาทั้งสิ้น ๒,๙๒๐,๐๐๐ บาท ตรวจสอบภายในห้องพบว่าประตูเข้าห้องพักปิดอยู่ลูกบิดล็อกเช่นเดิม ส่วนเหล็กที่ล็อกรูปตัวยูง้างหลุดออกจากเดือย จึงแจ้งพนักงานโรงแรมและเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้วเห็นว่าคนร้ายสามารถเข้าห้องโดยประตูทางเข้าเท่านั้น โจทก์ยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสาม เพราะจำเลยทั้งสามไม่ดูแลกุญแจให้ดีปล่อยให้ใคร ๆ ก็เอากุญแจไปใช้ได้ ซึ่งกุญแจอยู่ที่เคาน์เตอร์และที่แม่บ้าน กุญแจที่เคาน์เตอร์ใครก็สามารถหยิบได้ ส่วนจำเลยนำสืบถึงขั้นตอนการเข้าพักในโรงแรมว่าผู้เข้าพักต้องลงทะเบียนรับทราบข้อกำหนดและข้อห้ามของโรงแรม เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เข้าพักหากมีราคาเกินกว่า ๕๐๐ บาท ให้ฝากที่ตู้เซฟของโรงแรมซึ่งจัดไว้โดยไม่คิดค่าบริการ หากผู้เข้าพักไม่แจ้งทรัพย์สินเมื่อมีการสูญหายโรงแรมจะรับผิดเป็นเงิน ๕๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ล. ๑ โรงแรมจะมอบกุญแจห้องพักให้ผู้เข้าพัก ๑ ดอก ส่วนกุญแจแม่ซึ่งสามารถเปิดได้ทุกห้องจะเก็บไว้ในตู้เซฟของโรงแรม เวลาจะนำออกมาใช้ต้องมีกรรมการบริหารของโรงแรมอย่างน้อย ๒ คน เป็นผู้เปิดตู้เซฟ ระเบียบการใช้กุญแจตามเอกสารหมาย ล. ๒ กรณีแม่บ้านเข้าทำความสะอาดห้องพักจะใช้ลูกกุญแจที่มอบให้แขกที่เข้าพักนำมาคืน จะไม่อนุญาตให้แม่บ้านใช้กุญแจแม่ ห้องพักทุกห้องประตูจะเป็นแบบล็อกสองชั้นคือ ลูกบิดและเหล็กล็อกรูปตัวยู เมื่อปิดประตูล็อกลูกบิดและเหล็กล็อกตัวยูแล้วบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปในห้องได้ เห็นว่า จากคำพยานโจทก์เข้าใจว่ามีผู้ใช้กุญแจแม่ไขประตูห้องแล้วใช้สิ่งของปลดล็อกรูปตัวยูเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์ และน่าเชื่อว่าคนร้ายเป็นคนใกล้ชิดกับการเข้าพักของแขกโรงแรมและรู้ทางเข้าออกของโรงแรมดี โจทก์อ้างว่าจำเลยเก็บกุญแจไว้ไม่ดีทำให้มีผู้นำไปใช้เปิดห้องเข้าไปลักทรัพย์ แต่จำเลยมีระเบียบการใช้และเก็บรักษากุญแจตามเอกสารหมาย ล. ๒ นอกจากนี้โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามประมาทเลินเล่ออย่างใด อันทำให้มีผลโดยตรงทำให้ทรัพย์ของโจทก์สูญหาย ฉะนั้น ข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามต้องรับผิดเพียงที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดเกี่ยวกับวิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๗๔ , ๖๗๕ และ ๖๗๖ เท่านั้น ได้ความว่าทรัพย์สินของโจทก์ที่หายคือ นาฬิกาเรือนทองฝังเพชร สายสร้อยคอทองคำ เหรียญหลวงพ่อคูณกรอบทองคำล้อมเพชร พระนางพญาเลี่ยมทอง ตุ้มหูเพชร เข็มกลัดเพชรและเงินสด ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเกี่ยวด้วยเงินทอง ตรา ธนบัตร อัญมณี และของมีค่าอื่น ๆ ซึ่งตามมาตรา ๖๗๕ วรรคสอง ให้จำกัดความรับผิดไว้เพียง ๕๐๐ บาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง โจทก์เป็นคนเดินทางหรือแขกอาศัยเมื่อไม่ฝากของมีค่าไว้ จำเลยจึงรับผิดเพียง ๕๐๐ บาท ไม่ว่าของมีค่านั้นผู้เดินทางจะสวมใส่มาโดยเปิดเผยหรือไม่ก็ตาม และหาใช่ว่าจะต้องฝากทรัพย์สินเฉพาะผู้ลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรมตามที่โจทก์ฎีกาไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.