แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้เป็นโจทก์หรือจำเลยในคดีเดิม แต่จำเลยที่ 4 ก็เป็นทนายความของจำเลยที่ 2 ในคดีเดิม ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) บัญญัติว่าคู่ความหมายความรวมถึงทนายความของโจทก์หรือจำเลยด้วย จึงถือว่าจำเลยที่ 4 เป็นคู่ความในคดีเดิมเช่นกัน
คู่ความในคดีเดิมกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน มรดกที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายรายเดียวกัน คำขอของโจทก์ในคดีหลังที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันจดทะเบียน โอนทรัพย์มรดกที่พิพาทให้แก่โจทก์ ซึ่งมีข้อต้องวินิจฉัยเบื้องแรกว่ามีพินัยกรรมของผู้ตายฉบับโจทก์อ้าง หรือไม่ก่อน แล้วจึงจะวินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยทั้งสี่สมคบกันปิดบังพินัยกรรมดังกล่าว อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และโอนทรัพย์มรดกที่พิพาทให้แก่โจทก์ต่อไปได้ คดีเดิมกับคดีนี้ต่างมีประเด็นอย่างเดียวกันว่า ในระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 2 ใครเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อในคดีเดิมศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่าไม่มีพินัยกรรม ของผู้ตายฉบับที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์กลับนำคดีนี้มารื้อร้องฟ้องกันว่ามีพินัยกรรมฉบับดังกล่าวอีก ฟ้องของโจทก์ จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกแก่โจทก์ในฐานะผู้รับมรดกตามพินัยกรรม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท และให้ร่วมให้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวอีกเดือนละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๕๐,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสี่มิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับนางขันธ์เป็นบุตรของนางคล้ามผู้ตาย นางขันธ์ถึงแก่ความตายไปแล้วโดยจำเลยที่ ๑ เป็นทายาทโดยธรรมของนางขันธ์ เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางคล้ามผู้ตาย ต่อมาปี ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร้องคัดค้านขอให้ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน ต่อมาปี ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นขอแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายในคดีหมายเลขดำที่ ๗๕๘๓/๒๕๒๘ หมายเลขแดงที่ ๑๗๗๕๘/๒๕๓๐ คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๑๐ ให้แก่จำเลยที่ ๒ จำนวน ๑ ใน ๑๒ ส่วน คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๑๗๗๕๘/๒๕๓๐ ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีเดิมจำเลยที่ ๒ เป็นโจทก์ที่ ๒ ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยขอแบ่งทรัพย์มรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของนางคล้าม ผู้ตาย คดีนี้กับคดีเดิมจึงมีโจทก์และจำเลยที่ ๒ เป็นคู่ความเดียวกัน
สำหรับจำเลยที่ ๔ นั้น แม้จำเลยที่ ๔ จะมิได้เป็นโจทก์หรือจำเลยในคดีเดิม แต่จำเลยที่ ๔ ก็เป็นทนายความของจำเลยที่ ๒ ในคดีเดิม ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑ (๑๑) คู่ความหมายความรวมถึงทนายความของโจทก์หรือจำเลยด้วย จึงถือว่าจำเลยที่ ๔ เป็นคู่ความในคดีเดิม
คู่ความในคดีเดิมกับคู่ความในคดีนี้ทุกฝ่ายเป็นคู่ความเดียวกัน มรดกที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายรายเดียวกันในคดีเดิม โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดิมอ้างว่ามีพินัยกรรมของผู้ตายอีกฉบับหนึ่งมาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๑๐ โดยไม่ได้นำพินัยกรรมฉบับดังกล่าวมาแสดง ศาลฎีกาในคดีเดิมวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๒ ในคดีเดิมหรือจำเลยที่ ๒ ในคดีนี้ เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๑๐ ของผู้ตายและพิพากษาให้แบ่งส่วนของโจทก์ที่ ๒ หรือจำเลยที่ ๒ ในคดีนี้ในอัตรา ๑ ใน ๑๒ ส่วน การที่โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดิมกลับนำคดีมาฟ้องโจทก์ที่ ๒ ในคดีเดิมเป็นจำเลยที่ ๒ ในคดีนี้เรียกร้องเอามรดกโดยนำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ มาอ้าง แม้เหตุที่อ้างในคดีนี้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์เพิ่งพบพินัยกรรมฉบับดังกล่าวเนื่องจากนายสิทธิชัยผู้เก็บพินัยกรรมอ้างว่าค้นหาพินัยกรรมไม่พบโดยมีเจตนาทุจริตสมคบกับจำเลยทั้งสี่ปิดบังพินัยกรรมไว้อันเป็นการกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งต่างกับคดีเดิมก็ตาม แต่คำขอของโจทก์ในคดีนี้ก็ขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่พิพาทให้แก่โจทก์ ฉะนั้น ในการวินิจฉัยคดีนี้จึงมีข้อต้องวินิจฉัยเบื้องแรกว่ามีพินัยกรรมของผู้ตายฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ก่อนแล้วจึงจะวินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยทั้งสี่สมคบกันปิดบังพินัยกรรมดังกล่าวอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และโอนทรัพย์มรดกที่พิพาทให้แก่โจทก์ต่อไปได้ คดีเดิมกับคดีนี้จึงมีประเด็นอย่างเดียวกันว่า ในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ใครเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อในคดีเดิมศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่า ไม่มีพินัยกรรมของผู้ตายฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์กลับนำคดีนี้มารื้อร้องฟ้องกันว่ามีพินัยกรรมฉบับดังกล่าวอีก โดยโจทก์และจำเลยในคดีนี้ก็คือคู่ความเดียวกันเช่นนี้ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๘ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.