แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกำหนดราคาเบื้องต้นและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์จำนวน 1,797,750 บาท ไม่เป็นธรรม เพราะโจทก์รับซื้อฝากมาราคา 4,287,500 บาท เงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เจ้าหน้าที่เวนคืนของจำเลยกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินในการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ดังนี้ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้กล่าวอ้างว่าจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ด้วยแล้ว ซึ่งศาลก็ได้กำหนดเป็นประเด็นในคดีว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนเป็นธรรมหรือไม่ แต่เนื่องจากไม่ปรากฏราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน ศาลล่างทั้งสองจึงกำหนดเงินค่าทดแทนตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทำนองเดียวกับที่คณะกรรมการฯใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนเพียงแต่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพียง 50เปอร์เซนต์ ของราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไม่เป็นธรรม จึงได้กำหนดให้เพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 1,200 บาทซึ่งไม่สูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ทั้งนี้โดยได้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของที่พิพาท เหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนแล้ว เป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ชอบด้วยมาตรา 21 แล้ว ศาลล่างทั้งสองหาได้พิพากษานอกประเด็นหรือแก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนตามกฎหมายดังที่จำเลยฎีกา ทั้งตามมาตรา 25 และ 26 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ก็บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนฯ และให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว
เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาล โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนี้ในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง