คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7377/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยโดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่าสิทธิบัตรดังกล่าวของจำเลยเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์เพราะขัดต่อ พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 และปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ใบม่านเหล็กบังตาสำหรับประตูเหล็กยืดได้ถูกจำเลยอาศัยสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวของจำเลยฟ้องเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาหลายเรื่องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ม่านเล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กยึดและพับได้ของจำเลยและให้ยกคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ใบม่านบังตาสำหรับประตูเหล็กยึดของโจทก์ที่ 2 ผลิตภัณฑ์ของจำเลยกับผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ที่ 2 ออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวของจำเลยได้ตามบทบัญญัติมาตรา 54 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522
ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 31 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยนั้น เมื่ออธิบดีกรมทะเบียนการค้าได้มีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรตามมาตรา 28 แล้ว บุคคลที่เห็นว่าตนมีสิทธิรับสิทธิบัตรดีกว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรหรือเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรนั้นไม่ชอบด้วยมาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 14 มีสิทธิยื่นคำคัดค้านต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา 28การคัดค้านดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการเพื่อประกอบการพิจารณาของอธิบดีกรมทะเบียนการค้าว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรเป็นผู้มีสิทธิรับสิทธิบัตรและจะสั่งให้รับจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรนั้นหรือไม่ แต่หากสิทธิบัตรที่อธิบดีกรมทะเบียนการค้าสั่งให้รับจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกให้ไปนั้นได้ออกไปโดยไม่ชอบตามมาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 14แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แล้ว มาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ให้ถือว่าสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์ และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นได้ตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. นั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 261 ของจำเลยเห็นว่า สิทธิบัตรดังกล่าวของจำเลยไม่สมบูรณ์เพราะขัดต่อมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แม้โจทก์ทั้งสองมิได้ยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรนั้น โจทก์ทั้งสองก็มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ทั้งสองมิได้ยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 31จึงหาได้ตัดสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยตามที่ได้รับความคุ้นครองอยู่ในมาตรา 54 วรรคสองไม่
คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 13183/2530 ของศาลแพ่งเป็นกรณีที่จำเลยฟ้องโจทก์ที่ 2 และพวกขอให้ศาลยกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรที่วินิจฉัยว่าคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่เหมือนหรือลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของผู้ใดและให้ยกคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 ซึ่งคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทว่า แบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 2 เหมือนหรือลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ๎ม่านเหล็กบังตาตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยหรือไม่ ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2923/2529 ของศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 และพวกฟ้องจำเลยฐานละเมิดเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยไปร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นคดีอาญาว่าโจทก์ที่ 1 และพวกกระทำความผิดอาญาละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยและคดีอาญานั้นถึงที่สุดโดยพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ทำให้โจทก์ที่ 1 กับพวกเสียหาย ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และพวกเช่นนั้นหรือไม่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีทั้งสองดังกล่าวจึงเป(นคนละประเด็นกันกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ ซึ่งมีประเด็นว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยเป็นสิทธิบุตรที่ไม่สมบูรณ์และโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นได้หรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมิใช่ประเด็นที่ศาลใน 2 คดีก่อนได้วินิจฉัยไว้โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงไม่ฟ้องซ้ำกันกับคดีแพ่งทั้งสองดังกล่าว
ข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของประเทศอังกฤษแล้ว ปรากฏว่าข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของจำเลยและข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของประเทศอังกฤษดังกล่าวต่างมีข้อถือสิทธิเป็นสิ่งประดิษฐ์ในม่านแบบยืดและพับได้ ซึ่งปลายม่านทั้งสองด้านม้วนเป็นรูปก้นหอย ด้านหนึ่งม้วนตามเข็มนาฬิกา อีกด้านหนึ่งม้วนทวนเข็มนาฬิกาเหมือนกัน แผ่นใบม่านสวมสอดเข้าด้วยกันในลักษณะสามารถยืดออกและพับได้ โดยมีข้อแตกต่างกัน คือ ปลายใบม่านของการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของประเทศอังกฤษหักมุมทั้งสองด้าน ส่วนปลายใบม่านของการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยหักเป็นมุมด้านเดียว ซึ่งข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อย ทั้งไม่ปรากฏว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยใช้งานได้ดีกว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของประเทศอังกฤษเพราะข้อถือสิทธิที่แตกต่างกันดังกล่าวอย่างไร ดังนี้การประดิษฐ์ใบม่านเหล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กแบบยืดและพับได้ ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยมิใช่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น อันจะถือว่าเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 จำเลยย่อมไม่อาจขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวได้ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยจึงเป็นสิทธิบุตรที่ได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 5 (2) อันเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นได้ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชอบที่จะไม่รับฟังพยานเอกสาร ที่โจทก์ทั้งสองนำสืบถึงสิทธิบัตรของประเทศอังกฤษ เพราะเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาซึ่งจำเลยได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวไว้แล้วนั้นจำเลยมิได้กล่าวไว้ในฟ้องอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยโดยอ้างว่า สิทธิบัตรของจำเลยได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตรพ.ศ.2522 เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้กรม-ทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลย หากกรมทะเบียนการค้าไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง ซึ่งเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยเช่นนั้นแล้ว กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ จะต้องไปดำเนินการเพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวของจำเลยตามพระราชบัญญัตินั้นต่อไป หาใช่เป็นการพิพากษาบังคับกรมทะเบียนการค้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีตามที่จำเลยฎีกาไม่ เพียงแต่ศาลล่างทั้งสองใช้ถ้อยคำคลาดเคลื่อนไปเท่านั้น ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความ 10,000 บาท แทนโจทก์นั้นจึงไม่ชอบ เพราะตาราง 6 ท้ายป.วิ.พ. ได้กำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้นสำหรับคดีไม่มีทุนทรัพย์ไว้เพียง 1,500 บาท ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้

Share