คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7246/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การชำระหนี้ของจำเลยตามสัญญาตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษจำเลยหรือนาย ป. ไม่ได้ ทำให้จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากการต้องชำระหนี้ของจำเลยที่จะต้องให้นาย ป. ได้รับสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ตามสัญญาที่ทำไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนจากนาย ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 372วรรคหนึ่ง
แม้สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยนาย ป. จะทวงถามให้จำเลยโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ให้นาย ป. ได้หลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2535 ก็ตาม แต่เมื่อมีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ และรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้สิ้นสุดลงก่อนถึงเวลาที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้น ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนเป็นอันพ้นวิสัย โดยจะโทษจำเลยหรือนาย ป. ไม่ได้ จำเลยก็ไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นที่ได้กำหนดไว้เดิมนั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ต่อไป
เมื่อนาย ป. ชำระเงิน 8,000,000 บาท อันเป็นการชำระหนี้ของนาย ป. ตามสัญญาให้จำเลยรับไปครบถ้วนแล้ว นาย ป. จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้ เมื่อนาย ป. ตาย สิทธิดังกล่าวเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของนาย ป. จึงเป็นมรดกของนาย ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ป. จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้จะเป็นโมฆะเพราะวัตถุประสงค์ขัดต่อ พ.ร.บ. ป่าไม้ ฯ มาตรา 63 ก็ต่อเมื่อบทบัญญัติดังกล่าว ห้ามมิให้มีการโอนสัมปทานทำไม้ แต่ปรากฏว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้ผู้รับสัมปทานโอนสิทธิตามสัมปทานให้แก่ผู้อื่น ทั้งไม่มีบทบัญญัติอื่นใน พ.ร.บ. ป่าไม้ ฯ บัญญัติห้ามเด็ดขาดเช่นนั้นด้วย สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ขัดต่อ พ.ร.บ. ป่าไม้ ฯ อันจะทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 113เดิม (มาตรา 150 ใหม่)
นาย ป. ชำระเงินให้แก่จำเลยตามสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย และเป็นการชำระหนี้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้เงินที่จำเลยได้รับจึงไม่เป็นลาภมิควรได้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 ดังกล่าวที่จะต้องฟ้องเรียกร้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419

Share